Last updated: 23 พ.ค. 2562 | 10276 จำนวนผู้เข้าชม |
ปรากฏการณ์หนึ่งที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์ชาติคือปรากฏการณ์การประทานคัมภีร์อัลกุรอานให้แก่ท่านนบีมุฮัมมัด ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นที่ถ้ำฮิรออ์บนภูเขาอันนูรในนครมักกะะฮ์ นักประวัติศาสตร์มุสลิมมีทัศนะไม่ตรงกันในเรื่องวันเวลาของปรากฏการณ์นี้ ทัศนะที่มีน้ำหนักที่สุดคือทัศนะที่กล่าวว่าการประทานอัลกุรอานให้แก่ท่านนบีนั้นเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่21ของเดือนรอมฎอน ตรงกับวันที่ 10 เดือนสิงหาคม ค.ศ. 610 จณะที่ท่านนบีมีอายุ 40 ปี 6 เดือน 12 วัน (ตามจันทรคติ). และ 39 ปี 3 เดือน 22 วัน (ตามสุริยะคติ) (ดู อัรเราะฮีกุลมัคตูม. หน้า 66) และโองการแรกที่ได้ประทานแก่ท่านนนบีคือ :
{اقْرَأْ بِاسْمِ رَبِّكَ الَّذِي خَلَقَ خَلَقَ الْإِنسَانَ مِنْ عَلَقٍ اقْرَأْ وَرَبُّكَ الْأَكْرَمُ الَّذِي عَلَّمَ بِالْقَلَمِ عَلَّمَ الْإِنسَانَ مَا لَمْ يَعْلَمْ}
“จงอ่านด้วยพระนามแห่งพระผู้อภิบาลของเจ้า ผู้ทรงบังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด จงอ่านเถิด และพระผู้อภิบาลของเจ้านั้นเป็นผู้ทรงใจบุญยิ่ง ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้”(อัลอะลัก 1-5)
ความผูกพันระหว่างเดือนรอมฎอนกับอัลกุรอานปรากฏชัดเจนในพระดำรัสของอัลลอฮ์ ดังนี้:
(1) {شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ هُدًى لِّلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِّنَ الْهُدَىٰ وَالْفُرْقَانِ}
“เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกรุ-อานได้ถูกประทานลงมาเพื่อเป็นทางนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนจากทางนำ และการจำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ”
(อัลบะเกาะเราะฮ์ 185)
(2) {إِنَّا أَنزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةِ الْقَدْرِ}
“แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอัลก็อดรฺ” (ซึ่งอยู่ในเดือนรอมฎอน)
(อัลเกาะดัร 1)
(3) {إِنَّا أَنزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةٍ مُّبَارَكَةٍ إِنَّا كُنَّا مُنذِرِينَ}
“แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอันจำเริญ(หมายถึงคืนอัลเกาะดัรในเดือนรอมฎอน) แท้จริงเราเป็นผู้ตักเตือน” (อัดดุคอน 3)
นอกจากนั้นแล้วยังพบว่ามีคัมภีร์ของอัลลอฮ์ที่สำคัญๆได้ถูกประทานในเดือนรอมฎอนดังนี้ :
وعن واثلة بن الأسقع عن رسول الله - صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ - أنزلت صحف إبراهيم أول ليلة من رمضان، وأنزلت التوراة لست مضت من رمضان، وأنزل الإنجيل لثلاث عشرة مضت من رمضان، وأنزل الزبور لثمان عشر خلت من رمضان، ". رواه الطبراني في "الكبير" عن واثلة، وأحمد في "مسنده"، وابن عساكر، وحسنه الألباني في "صحيح الجامع" رقم (1509).
มีรายงานจากท่านวาษิละฮ์ จากท่านนบี ว่า : ศุฮุฟของนบีอิบรอฮีมนั้นถูกประทานในคืนแรกของรอมฎอน คัมภีร์เตารอต(ของนบีมูซา)ถูกประทานในวันที่หกของรอมฎอน คัมภีร์อินญีล(ของนบีอีซา)ถูกประทานในวันที่สิบสามของรอมฎอน คัมภีร์ซะบูร(ของนบีดาวูด)ถูกประทานในวันที่สิบแปดของรอมฎอน (บันทึกโดยอัตฎอบรอนีย์ในอัลมุอ์ญัมอัลกะบีร และอัลบานีย์ระบุว่าเป็นฮะดีษเศาะเหี๊ยะห์ ดูเศาะเหี๊ยะห์อัลญามีอ์ หมายเลข 1509)
การที่อัลกุรอานถูกประทานในเดือนรอมฎอนนั้นย่อมสื่อนัยสำคัญหลายประการ ประการที่สำคัญที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอในที่นี้คือ ความสัมพันธ์ระหว่างอัลกุรอานในฐานะพระดำรัสของอัลลอฮ์ที่อยู่ในรูปของคัมภีร์เล่มสุดท้ายกับเดือนรอมฎอนในฐานะเดือนอันประเสริฐที่หมุนเวียนมาในชีวิตของมนุษย์เราปีละหนึ่งครั้ง เมื่อเดือนรอมฎอนเป็นเดือนของการประทานอัลกุรอาน กิจวัตรที่ประเสิรฐที่สุดนอกเหนือจากการถือศีลอดจึงเป็นกิจวัตรที่เกี่ยวข้องกับอัลกุรอาน ทั้งในด้านการอ่าน การท่องจำ การพินิจพิเคราะห์ และการนำมาปฏิบัติ กิจวัตรทั้งสี่ด้านนี้จะต้องช่วยกันรณรงค์ให้เกิดขึ้นในบ้านของเรา ในมัสยิดของเรา ในโรงเรียนของเรา ในสมาคมของเรา ในที่ชุมนุมต่างๆของเราตลอดเดือนรอมฎอน
ในเรื่องดังกล่าวนี้มีคำสอนและแบบอย่างมากมายจากท่านนบี และจากสลัฟซอลิฮ์(กัลญานชนในยุคก่อน) พอจะยกตัวอย่างได้ดังนี้:
การอ่านอัลกุรอานในเดือนรอมฎอน
1). อัลลอฮ์ ได้ชื่นชมแลสรรเสิญผู้ที่อ่านอัลกุรอานใว้ว่า :
{إِنَّ الَّذِينَ يَتْلُونَ كِتَابَ اللَّهِ وَأَقَامُوا الصَّلَاةَ وَأَنفَقُوا مِمَّا رَزَقْنَاهُمْ سِرًّا وَعَلَانِيَةً يَرْجُونَ تِجَارَةً لَّن تَبُورَ. لِيُوَفِّيَهُمْ أُجُورَهُمْ وَيَزِيدَهُم مِّن فَضْلِهِ إِنَّهُ غَفُورٌ شَكُورٌ}
“แท้จริง บรรดาผู้อ่านคัมภีร์ของอัลลอฮฺ(อัลกุรอาน) และดำรงการละหมาด และบริจาคสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา โดยซ่อนเร้นและเปิดเผย เพื่อหวังการค้าที่ไม่ซบเซา (ขาดทุน) พระองค์จะทรงตอบแทนรางวัลให้แก่พวกเขาอย่างครบถ้วน และจะทรงเพิ่มให้แก่พวกเขาจากความโปรดปรานของพระองค์ แท้จริง พระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงขอบคุณ (เพราะการภักดีของพวกเขา)” (ฟาฏิร 29-30)
2). ท่านบี ได้กล่าวว่า
:الصِّيَامُ وَالْقُرْآنُ يَشْفَعَانِ لِلْعَبْدِ يَوْمَ الْقِيَامَةِ ، يَقُولُ الصِّيَامُ : أَيْ رَبِّ ، مَنَعْتُهُ الطَّعَامَ وَالشَّهَوَاتِ بِالنَّهَارِ ، فَشَفِّعْنِي فِيهِ ، وَيَقُولُ الْقُرْآنُ : مَنَعْتُهُ النَّوْمَ بِاللَّيْلِ ، فَشَفِّعْنِي فِيهِ . قَالَ : فَيُشَفَّعَانِ.أخرجه أحمد 2/174(6626).
การถือศีลอดและอัลกุรอานจะช่วยเหลือ(ชะฟาอัต)แก่บ่าว(ที่ถือศีลอดและอ่านอัลกุรอาน)ในวันกิยามะฮ์. การถือศีลอดจะพูดว่า " โอ้พระผู้อภิบาลของฉัน ฉันได้ยับยั้งเขาจาก(การรับประทาน)อาหาร และ(การปฏิบัติตาม)อารมณ์ใคร่ในตอนกลางวัน ดังนั้นโปรดช่วยเหลือฉันต่อเขาด้วย "และอัลกุรอานจะพูดว่า " ฉันได้ยับยั้งเขาจากการนอนในตอนกลางคืน ดังนั้นโปรดช่วยเหลือฉันต่อเขาด้วย แล้วทั้งสอง(การถือศีลอดและอัลกุรอาน)ก็ได้รับการช่วยเหลือ(ชะฟาอัต) (บันทึกโดยอะฮ์หมัด หมายเลข 6626)
3) การอ่านอัลกุรอานในเดือนรอมฎอนเป็นกิจวัตรของกัลยาณชนรุ่นก่อน(สะลัฟซอลิฮ์) พวกเขาเหล่านั้นจะอ่านอัลกุรอานในเดือนรอมฎอน ในละหมาดและนอกละหมาด ตัวอย่างเช่น :
3.1- ท่านเกาะตาดะฮ์(เราะฮิมะฮุลลอฮ์) อ่านอัลกุรอานหนึ่งจบทุกสามคืน และเมื่อถึงสิบคืนท้ายท่านจะอ่านคืนละหนึ่งจบ (ละตออิฟุลมะอาริฟ หน้า 191)
3.2-ท่านอันนุเคาะอีย์ (เราะฮิมะฮุลลอฮ์)ได้ปฏิบัติเช่นเดียวกับท่านเกาะตาดะฮ์ และท่านอ่านหนึ่งจบภายในสามคืนนอกเดือนรอมฎอน (อ้างแล้ว)
3.3-ท่านอิมามอัชชาฟิอีย์ (เราะฮิมะฮุลลอฮ์) อ่านอัลกุรอานหกสิบจบภายในเดือนรอมฎอนในละหมาด (อ้างแล้ว)
3.4- ท่านอิมามมาลิก (เราะฮิมะฮุลลอฮ์) เมื่อเข้าเดือนรอมฎอนท่านจะละวางจากการอ่านอัลฮะดีษ และจากการนั่งพูดคุยกับอุละมาอ์ ท่านจะมุงมั่นต่อการอ่านอัลกุรอานจากเล่มมุศฮัฟเท่านั้น (อ้างแล้ว)
3.5- ท่านซุฟยานอัซเซารีย์(เราะฮิมะฮุลลอฮ์). เมื่อเข้าเดือนรอมฎอนท่านจะละทิ้งอิบาดะฮ์อื่นๆ และมุ่งยังการอ่านอัลกุรอานอย่างเดียว (อ้างแล้ว)
4) ท่านอัมร์ อิบนุลอาศ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ) กล่าวว่า" ทุกๆอายะฮ์ในอัลกุรอานคือฐานันดรหนึ่ง(ดะเราะญะฮ์)ในสวนสวรรค์ และคือดวงประทีปภายในบ้าน ใครอ่านอัลกุรอานความเป็นนบี(นุบูวะฮ์)จะเข้ามาอยู่ระหว่างสีข้างทั้งสอง เว้นแต่ว่าเขาไม่ได้รับวะะฮ์ยู" (อ้างแล้ว หน้า193)
5). ท่านอะบูฮุรอยเราะฮ์ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ) กล่าวว่า" บ้านที่มีการอ่านอัลกุรอานนั้น คนในบ้านจะได้รับความกว้างขวาง ความดีในบ้านจะมากมาย มะลาอิกะฮ์จะมาอยู่ในบ้าน ชัยฏอนจะออกไป ส่วนบ้านที่ไม่มีการอ่านอัลกุรอาน คนในบ้านจะแคบแค้น ความดีจะลดน้อย มะลาอิกะฮ์จะออกไป และชัยฏอนจะเข้ามาแทนที่ (อ้างแล้ว )
การท่องจำและการทบทวนอัลกุรอาน
มีรายงานมากมายที่รายงานเกี่ยวกับกิจวัตรของท่านนบีในเดือนรอมฎอนว่าท่านนบีจะทำการทบทวนอัลกุรอานกับญิบรีลในทุกคืนของเดือนรอมฎอน เช่นรายงานของท่านอิบนุอับบาส(เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ)ดังนี้
عن عُبَيْدُ اللَّهِ بْنُ عَبْدِ اللَّهِ عَنِ ابْنِ عَبَّاسٍ قَالَ:كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صلى الله عليه وسلم أَجْوَدَ النَّاسِ ، وَكَانَ أَجْوَدُ مَا يَكُونُ فِى رَمَضَانَ حِينَ يَلْقَاهُ جِبْرِيلُ ، وَكَانَ يَلْقَاهُ فِى كُلِّ لَيْلَةٍ مِنْ رَمَضَانَ فَيُدَارِسُهُ الْقُرْآنَ.أخرجه البُخَارِي (3554) وأحمد (2042)
จากท่านอิบนุอับบาสเล่าว่าท่านเราะซูล นั้นเป็นคนที่ใจบุญ และท่านจะใจบุญที่สุดในเดือนรอมฎอนเมื่อมะลาอิกะฮ์ญิบรีลมาพบ และมะลาอิกะฮ์ญิบรีลจะมาพบท่านนบีทุกค่ำคืนของรอมฎอนเพื่อทบทวนและศึกษาอัลกุรอาน ( บันทึกโดยอัลบุคอรีย์หมายเลข3557 และอะฮ์มัด หมายเลข 2042)
จากรายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นความผูกพันระหว่างอัลกุรอาน กับเดือนรอมฏอน ในแง่ของการทบทวน การท่องจำ และการศึกษาเล่าเรียน โดยญิบรีลจะใช้เวลาค่ำคืนรอมฏอนของทุกปีในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าวกับท่านนบี จนกระทั่งท่านกลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮ เดือนรอมฏอน จึงเป็นเดือนที่มุสลิมทุกคนจะต้องมีกิจวัตรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอัลกุรอาน การท่องจำอัลกุรอาน การทบทวนอัลกุรอานที่เคยจำมาก่อน และอื่นที่เกี่ยวข้อง มัสยิดทุกมัสยิดจึงควรจัดกิจกรรมในเดือนรอมฎอนดังนี้ :
1. ในละหมาดตะรอเวียะทุกคืนของเดือนรอมฏอน อิหม่ามควรอ่านอัลกุรอานซูเราะฮ์ยาว ( طوال السور ) โดยแบ่งจำนวนอายะห์ให้เหมาะสมในแต่ละรอกะอัต หากอิหม่ามไม่เป็นผู้ท่องจำอัลกุรอานก็ให้ดูจากเล่มมุศฮัฟ แต่ไม่ควรเจาะจงอ่าน แต่ซูเราะห์สั้น ( قصارالسور ) ของญุซอ์อัมมา (جزء عم) เท่านั้น
2. ในช่วงพักระหว่าง 4 รอกะอัตของละหมาดตะรอเวียะฮ์ ควรให้มีการสรุปความหมายของอายะห์ที่สำคัญๆที่ได้อ่านในรอกะอัตที่ผ่านมา หรือไม่ก็ให้สรุปความหมายของอัลกุรอานในอายะห์ที่สำคัญๆ หลังจากเสร็จละหมาดแล้ว
3. ควรจัดฮะละเกาะฮ์ ทบทวนอัลกุรอาน โดยแบ่งเป็นฮะละเกาะฮ์สำหรับเด็ก ฮะละเกาะฮ์สำหรับสตรี ฮะลาเกาะฮ์สำหรับเยาวชน ฮะลาเกาะฮ์สำหรับมุอัลลัฟ และฮะละเกาะฮ์สำหรับผู้สูงอายุเป็นต้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมอาจเป็นหลังละหมาดตะรอเวียะฮ์ หรือหลังละหมาดศุบฮิ หรือหลังละหมาดฟัรดู 5 เวลา ในช่วงของ 10 คืนท้ายของรอมฏอนที่มีการเอียะติกาฟที่มัสยิด
4 ควรจัดฮะละเกาะฮ์การอรรถาธิบายอัลกุรอาน (ตัฟซีรอัลกุรอาน) ในช่วงเวลาที่เหมาะสม นอกเหนือจากที่อิหม่ามได้ทำหลังละหมาดตะรอเวียะห์
5 ควรให้เสียงของวิทยุ เครื่องเล่นซีดี โทรทัศน์ และอื่นๆ ภายในบ้าน และเสียงตามสายของมัสยิด เป็นเสียงการอันเชิญอัลกุรอาน จากนักอ่านที่มีเสียง และท่วงทำนองการอ่านที่ไพเราะ เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไป
การพินิจพิเคราะห์อัลกุรอาน
การพินิจพิเคราะห์อัลกุรอาน จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้อ่าน หรือผู้ฟังรู้ความหมายของอัลกุรอานที่ได้อัญเชิญ การรู้ความหมายของอัลกุรอาน จึงเป็นอีกมาตรฐานหนึ่งของมุสลิมทุกคนที่จะต้องก้าวไปให้ถึง ไม่เช่นนั้นแล้วอัลกุรอานก็จะกลายเป็นเพียงคัมภีร์ที่อ่านเพื่อความไพเราะเสนาะหูเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถซึมลึกไปถึงสติปัญญา และจิตใจของผู้อ่าน และผู้ฟังได้ ซึ่งขัดแย้งกับจุดประสงค์ของการประทานอัลกุรอาน ดังที่อัลลอฮ ได้ตรัสว่า
{شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ هُدًى لِّلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِّنَ الْهُدَىٰ وَالْفُرْقَانِ}
“เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกรุ-อานได้ถูกประทานลงมาเพื่อเป็นทางนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนจากทางนำ และการจำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ”
(อัลบะเกาะเราะฮ์ 185)
การพินิจพิเคราะห์อัลกุรอาน เป็นหนทางหนึ่งที่สำคัญสู่ฮิดายะห์ (ทางนำ) ที่มนุษย์จะได้รับจากอัลลลอฮ หลายคนที่เปลี่ยนศาสนามารับอิสลามอันเนื่องมาจากได้พินิจพิเคราะห์ความหมายอัลกุรอาน และหลายคนที่กลับเนื้อกลับตัว และสารภาพผิดต่ออัลลอฮเพราะได้พินิจพิเคราะห์อัลกุรอานเช่นเดียวกัน ดังนั้นเดือนรอมฏอนจึงเป็นเดือนที่ควรรณรงค์ให้มีการพินิจพิเคราะห์อัลกุรอาน ด้วยการศึกษาความหมาย จากสื่อต่างๆที่แพร่หลาย และสามารถเข้าถึงได้ง่าย ในยุคปัจจุบัน
การปฏิบัติตามคำสอนของอัลกุรอาน
การปฏิบัตตามคำสอนของอัลกุรอานคือเป้าหมายสูงสุดของการประทานอัลกุรอาน จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติในที่นี้ หมายถึงการปฏิบัติตามทุกสิ่งที่อัลกุรอานใช้ ละเว้นทุกสิ่งที่อัลกุรอานห้าม อนุมัติในสิ่งที่อัลกุรอานอนุมัติ ฮะรอมในสิ่งที่อัลกุรอานฮะรอม ให้อัลกุรอานเป็นแนวทางชี้นำไปสู่ทางที่เทียงตรงดังที่อัลลอฮได้ตรัสไว้ว่า:
{إِنَّ هَٰذَا الْقُرْآنَ يَهْدِي لِلَّتِي هِيَ أَقْوَمُ}
“แท้จริง อัลกุรอานนี้นำสู่ทางที่เที่ยงตรงยิ่ง “(อัลอิสรออ์ 9)
อย่างไรก็ตามการอ่านอัลกุรอาน การท่องจำ และการทบทวนอัลกุรอาน ตลอดจนการศึกษาเรียนรู้ และการพินิจพิเคราะห์อัลกุรอาน ทั้งหมดนี้อยู่ในคำสอนของอัลกุรอานทั้งสิ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ หากเรายังเฉยเมย และไม่ใส่ใจต่อคำสอนอื่นๆอีกมากมาย เดือนรอมฏอน จึงเป็นเดือนที่ต้องรณรงค์ให้ทุกคนตื่นตัวในการใกล้ชิดกับอัลกุรอานทั้งด้านการอ่าน การฟัง การท่องจำ การศึกษาเรียนรู้ การพินิจพิเคราะห์ และการนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต อย่าทำตัวเหินห่างจากอัลกุรอาน เหมือนดังที่อัลลอฮ ได้ตรัสว่า
{وَقَالَ الرَّسُولُ يَا رَبِّ إِنَّ قَوْمِي اتَّخَذُوا هَٰذَا الْقُرْآنَ مَهْجُورًا}
“และเราะซูล (มุฮัมมัด)ได้กล่าวว่า “ข้าแต่พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ แท้จริงกลุ่มชนของข้าพระองค์ได้ยึดเอาอัลกรุอานนี้เป็นที่ทอดทิ้งเสียแล้ว”(อัลฟุรกอน 30)
รูปแบบต่อไปนี้คือรูปแบบของการทอดทิ้งอัลกุรอาน
1. ไม่ใส่ใจในการอ่าน
2. ไม่ใส่ใจในการฟัง
3. ไม่ใส่ใจในการศึกษาเรียนรู้
4. ไม่ใส่ใจในการพินิจพิเคราะห์
5. ไม่ใส่ใจในการปฏิบัติตาม
ขอดุอาห์จากอัลลอฮให้ผู้อ่านทุกท่านเป็นชาวอัลกุรอาน ( أهل القرآن ) ขออัลลอฮให้อัลกุรอานเป็นผู้นำ ( إمام ) เป็นรัศมี ( نور ) เป็นทางนำ ( هداية ) และเป็นความเมตตา (رحمة ) แก่เราทุกคน อามีน
บรรนาณุกรม
1- القرآن الكريم
2- الرحيق المختوم : صفي الرحمن المباركفوري،ط 1997م دارالمؤيد الرياض .
3- صحيح البخاري : الإمام البخاري، الطبعة الأولى 1997م، دارالسلام الرياض .
4- لطائف المعارف : الحافظ زين الدين بن رجب الحنبلي، ط 1424هـ مؤسسة سليما بن عبدالعزيزالراجحي الخيرية .
5- المسند : اإمام أحمد بن حنبل، الطبعة الأولى 1991م، دار الفكر.
ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข
5 ต.ค. 2562
17 ก.ย. 2562
17 ก.ย. 2562
14 มิ.ย. 2566