การเผยแผ่อิสลาม (ดะอ์วะฮ์) ในบริบทสังคมไทย(ตอน2)

Last updated: 17 ก.ย. 2562  |  1397 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การเผยแผ่อิสลาม (ดะอ์วะฮ์) ในบริบทสังคมไทย(ตอน2)

ผศ.ดร.อับดุลเลาะ   หนุ่มสุข

รองประธานกรรมการอิสลาม กรุงเทพมหานคร

 

สำหรับเหตุผลข้อที่สอง ที่บอกว่าเมื่อมุสลิมแต่งงานกับต่างศาสนิก ต่างศาสนิกจะต้องเปลี่ยนมานับถืออิสลามนั้นเป็นเรื่องจริง เป็นบัญญัติทีปรากฏชัดเจนทั้งในคัมภีร์อัลกุรอานและในซุนนะฮ์ของท่านนบี   อาจมีข้อผ่อนผันบ้างในกรณีที่คู่สมรสเป็นผู้หญิงที่เป็นชาวคัมภีร์(นับถือศาสนาคริสต์หรือศาสนายูดาย) สำหรับในกรณีของผู้นับถือศาสนาพุทธนั้นไม่มีข้อผ่อนผันใดๆ ไม่ว่าคู่สมรสจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตาม  ในเรื่องนี้มีเหตุผลทางศาสนาที่เข้าใจได้ไม่ยาก  สำหรับเหตุผลทางสังคมง่ายๆก็คือการครองชีวิตคู่นั้น คู่สามีภรรยาจะต้องมีวิถีความเชื่อ และวิถีการดำเนินชีวิตเหมือนกันเพื่อให้การครองคู่และชีวิตครอบครัวดำเนินไปด้วยความราบรื่น เป็นปกติสุข และไร้ปัญหา       การกล่าวอ้างลอยๆว่า ต่างคนต่างถือต่างคนต่างปฏิบัติก็อยู่กันได้เป็นการกล่าวอ้างที่ง่ายแต่ยากในทางปฏิบัติ และไม่มีใครยอมรับ  ยิ่งเมื่อคู่สมรสมีบุตรก็จะยิ่งมีปัญหาต่างๆตามมามากมาย     การวางเงื่อนไขว่าสามีภรรยาจะต้องอยู่ในศาสนาเดียวกันจึงสมเหตุสมผลด้วยประการทั้งปวง  และเนื่องจากอิสลามเป็นศาสนาแห่งการเผยแผ่(ดีนุดดะอ์วะฮ์) คู่สมรสของมุสลิมจึงจำเป็นต้องเป็นมุสลิมเช่นเดียวกัน มิเช่นนั้นการสมรสจะไม่ชอบด้วยบทบัญญัติอิสลาม

            ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงมีปรากฏการณ์ของผู้เข้ารับอิสลามอันเนื่องมาจากการสมรสเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะหลังๆที่สังคมมุสลิมมีการขยายตัว ที่ดินของมุสลิมถูกขายให้ต่างศาสนิก ชุมชนมุสลิมที่เคยมีมุสลิมร้อยเปอร์เซ็นต์ในหมู่บ้าน หรือมีมุสลิมเป็นส่วนใหญ่เริ่มมีต่างศาสนิกเข้ามาอยู่อาศัยและประกอบธุรกิจมากมาย  ชุมชนที่ไม่เคยมีศาลพระภูมิอยู่หน้าบ้านเริ่มมีให้เห็นหนาตาขึ้น  ชุมชนที่ไม่เคยมีสุนัขมาเดินเพ่นพ่านเริ่มมีสุนัขมากขึ้น และที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือชุมชนมุสลิมหลายชุมชนกลายเป็นชุมชนที่มีร้านขายสุรายาเมาอยู่ทั่วไป จนกล่าวกันว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านขายสุราเป็นคนมุสลิมในชุมชนนั่นเอง กอปรกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมอุตสาหกรรม ลูกหลานของมุสลิมต้องออกไปทำงานตามโรงงานต่างๆ ออกไปเรียนหนังสือภาคพิเศษ และภาคค่ำตามสถาบันต่างๆ ทั้งหมดนี้ได้ก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมกับต่างศาสนิกในเชิงชู้สาว จนนำไปสู่การแต่งงานในที่สุด

            ผมจำได้ว่าในอดีต (เมื่อประมาณ50ปีที่ผ่านมา) มีผู้หญิงมุสลิมะฮ์ในหมู่บ้านหนีตามผู้ชายต่างศาสนิกไป แต่ไม่ช้าญาติพี่น้องก็ไปตามกลับมาและยื่นข้อเสนอให้ฝ่ายชายต้องเปลี่ยนมารับอิสลาม  เจรจากันอยู่นานพอสมควร ในที่สุดฝ่ายชายก็ยินยอมเข้ารับอิสลาม ชาวบ้านในชุมชนต่างพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ในหนทางเสียหาย  ครอบครัวของฝ่ายหญิงต่างถูกติฉินนินทาจากญาติสนิทมิตรสหายและคนในหมู่บ้านจนแทบจะมุดแผ่นดินหนี   จำได้ว่าคำ “มุอัลลัฟ” ในสมัยนั้นใช้เรียกมุสลิมใหม่ในเชิงลบมากกว่าในเชิงบวก การแสดงออกซึ่งความรังเกียจเห็นได้ชัดเจนจากคำสั่งสอนของผู้หลักผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ รวมถึงพ่อแม่ว่าอย่าได้หาคู่ครองที่เป็นต่างศาสนิก   การได้เขยได้สะใภ้เป็นมุอัลลัฟในสมัยนั้นจึงเป็นที่น่ารังเกียจมากกว่าได้รับการยอมรับ    อย่างไรก็ตามทัศนคติดังกล่าวได้เปลี่ยนไปเมื่อจำนวนมุอัลลัฟเพิ่มมากขึ้น และมีมุอัลลัฟจำนวนไม่น้อยที่กลายเป็นมุสลิมผู้ศรัทธามั่นในอิสลาม มีความรู้ความเข้าใจอิสลาม และมีความเคร่งครัดในการปฏิบัติศาสนกิจเหนือกว่ามุสลิมเดิมหลายเท่า บางคนเป็นนักพูด เป็นนักเขียน เป็นนักกิจกรรม เป็นผู้นำชุมชน และเป็นนักเผยแผ่อิสลาม เป็นตัวอย่างที่ดีของมุอัลลัฟโดยทั่วไป

การเติบโตของประชากรมุสลิมในประเทศไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาจึงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีปัจจัยของจำนวนมุอัลลัฟที่เพิ่มขึ้นมาเกี่ยวข้องด้วย โจทย์สำคัญข้อหนึ่งของนักเผยแผ่อิสลามในยุคปัจจุบันก็คือ ทำอย่างไรที่จะให้มุอัลลัฟทุกคนเป็นมุอัลลัฟที่มีคุณภาพ เป็นมุอัลลัฟที่มีความศรัทธาในอิสลามอย่างจริงจังและจริงใจ  แน่นอนการมีมุอัลลัฟที่มีคุณภาพย่อมส่งผลต่อคุณภาพของบุตรธิดาที่เกิดและเติบโตในท่ามกลางครอบครัวเหล่านี้  การสันนิฐานว่าสังคมไทยจะมีประชากรส่วนใหญ่นับถืออิสลาม เพราะมีผู้รับอิสลามผ่านการแต่งงานเพิ่มขึ้นเป็นข้อสันนิฐานที่อาจเป็นไปได้ แม้จะมีเปอร์เซ็นต์เพียงน้อยนิด  ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญหลายประการโดยเฉพาะปัจจัยของวันเวลา บวกกับปัจจัยการทำงานเผยแผ่อิสลามที่ส่วนใหญ่ยังตีกรอบอยู่ในสังคมมุสลิมแคบๆ และยังขาดเอกภาพและภราดรภาพในการทำงาน

สำหรับเหตุผลข้อที่สามที่บอกว่าอิสลามห้ามคุมกำเนิด  ประชากรมุสลิมจึงน่าจะเติบโตมากกว่าประชากรศาสนิกอื่น  เหตุผลข้อนี้เป็นเหตุผลที่น่าฟังอย่างยิ่ง เนื่องจากมีตัวเลขทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการของชุมชนมุสลิมในประเทศต่างๆสนับสนุน จึงอนุมานว่าชุมชนมุสลิมในประเทศไทยก็คงไม่แตกต่างกัน  อย่างไรก็ตามผมยังไม่ทราบว่ามีองค์กรมุสลิมหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนหน่วยงานใดที่ทำการสำรวจสำมะโนประชากรมุสลิมเป็นการเฉพาะเพื่อให้เห็นตัวเลขที่แสดงถึงความเติบโตของประชากรมุสลิมในช่วงต่างๆที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน  ตัวเลขที่เราอ้างถึงจึงเป็นตัวเลขที่เกิดจากมโนและเกิดจากการสันนิฐานเท่านั้น

            เรื่องการคุมกำเนิดในหมู่ประชากรมุสลิมปัจจุบันเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าทำวิจัยอย่างยิ่ง เนื่องจากเห็นว่ามีตัวแปรหลายตัวที่ทำให้ครอบครัวมุสลิมในยุคปัจจุบันคุมกำเนิด โดยเฉพาะครอบครัวที่อยู่ในสังคมเมือง  ครอบครัวมุสลิมที่มีลูกสิบคนในปัจจุบันหายากขึ้น และต่อไปอาจจะหาไม่ได้เลย  การมีลูกหลายคนกลายเป็นเรื่องแปลกไปแล้วในสายตามุสลิมด้วยกัน ผมก็เลยไม่แน่ใจเสียแล้วว่าข้อสันนิฐานข้างต้นจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงไร  นึกถึงฮะดีษของท่านนบีที่บอกว่า “อิสลามเริ่มต้นอย่างคนแปลกหน้า และจะกลับมาอย่างคนแปลกหน้า”  (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 145)  เมื่อการคุมกำเนิดเป็นเรื่องปกติในสังคมปัจจุบัน การไม่คุมกำเนิดจึงเป็นเรื่องแปลก(คนไม่คุมกำเนิดคือคนแปลก) และไม่น่าเชื่อว่าบัญญัติของอิสลามในการห้ามคุมกำเนิดจะมีฮิกมะฮ์(วิทยปัญญา)ที่ยิ่งใหญ่และมากมาย ไม่เฉพาะแต่ในด้านบุคคลในแง่ของความศรัทธามั่นในอัลลอฮ์ และการมอบหมายต่อพระองค์เท่านั้น แต่ยังมีฮิกมะฮ์มากมายในด้านสังคม และในด้านการดะฮ์วะฮ์เผยแผ่อิสลามอีกด้วย ขออัลลอฮ์ได้ทรงให้เราทั้งหลายเป็นคนแปลกหน้าที่ได้รับความโปรดปรานจากพระองค์ตลอดไป  อามีน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้