ประวัติความเป็นมาของสุเหร่าสามวา
ชุมชนมุสลิมทุกแห่ง จะมีมัสยิดเป็นศูนย์กลางของชุมชน สำหรับชาวมุสลิมที่เรียกว่า “แขกตำพรื้อ” ริมคลองสามวา ก็เช่นเดียวกัน พวกเขาได้ร่วมกันสร้างศาสนสถานเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ ในยุคสมัยนั้นเรียกว่า “สุเหร่า”
สุเหร่าหลังแรก ได้สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2420 มีนายฮัจยีบากา เป็นอิหม่าม อาคารที่สร้างขึ้นเป็นอาคารไม้สักทรงไทย กว้าง 8 วา ยาว 8 วา อาคารสุเหร่าหลังที่ 2 ก่อสร้างเป็นอาคารไม้ทรงปั้นหยาใต้ถุนสูง ยาว 13 วา 2 ศอก กว้าง 8 วา ก่อสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2480
ในปี พ.ศ. 2490 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลามขึ้นเป็นครั้งแรก กำหนดให้มีการจดทะเบียนมัสยิดเป็นนิติบุคคล
สุเหร่าสามวา ได้จดทะเบียนเป็นมัสยิดชื่อ “มัสยิดดารุ๊ลอีบาด๊ะห์” เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2492 ได้ทะเบียนมัสยิดเลขที่ 12 ของจังหวัดพระนคร
สำหรับอาคารมัสยิดดารุ๊ลอีบาด๊ะห์ หลังปัจจุบัน เป็นอาคารหลังที่ 3 ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2559 เป็นอาคารคอนกรึตเสริมเหล็กสองชั้นครึ่ง มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 2,500 ตารางเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างเป็นเงินรวมประมาณ 60 ล้านบาท
ตลอดระยะเวลา 145 ปี ของสุเหร่าสามวา หรือ มัสยิดดารุ๊ลอีบาด๊ะห์ แขวงสามวาตะวันตก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร มีอิหม่ามหรือผู้นำชุมชนมุสลิม จำนวน 6 ท่าน คือ
1. อิหม่ามนายฮัจย์บากา ประมาณปี (พ.ศ. 2420-2435)
2. อิหม่ามนายฮัจยีโก๊ะ ประมาณปี (พ.ศ.2435-2445)
3. อิหม่ามฮัจยีเราะห์มาน หวังโซ๊ะ ประมาณปี (พ.ศ.2445 - 2475)
4. อิหม่ามฮัจยีสะเมาะฮ์ กองเป็ง ประมาณปี (พ.ศ.2475 - 2492)
5. อิหม่ามฮัจยีมุสตอฟา หนุ่มสุข (พ.ศ. 2493 - 2548)
6. อิหม่าม ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข (6 สิงหาคม 2548 - ปัจจุบัน)