Last updated: 16 ก.ย. 2562 | 3068 จำนวนผู้เข้าชม |
สวัสดิการสังคมในอิสลาม
ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข
3.1 ความหมายสวัสดิการสังคมในอิสลาม
สวัสดิการสังคม ( Social Welfare) ตรงกับภาษาอาหรับว่า إنعاش إجتماعي หมายถึงกิจกรรมบริการสังคมหรือโครงการทางสังคมที่จัดขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนกลุ่มหนึ่งหรือหลายกลุ่มในสังคม (มูนีร อัลบะอ์ละบักกีย์, 1984 :1054) นิยามดังกล่าวตรงกับนิยามของกรมประชาสงเคราะห์ (2544 : 61) ที่ได้ให้ความหมายสวัสดิการสังคมไว้ว่า หมายถึง ระบบการจัดบริการทางสังคม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทางสังคมและพัฒนาสังคม รวมทั้งการส่งเสริมความมั่นคงเพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ในระดับมาตรฐาน โดยบริการดังกล่าวจะตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนให้ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ทั้งในด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย การประกันรายได้ สวัสดิการแรงงาน นันทนาการ และบริการทางสังคมทั่วไป
ระบบสวัสดิการสังคมในอิสลามได้ถูกสร้างขึ้นอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่สมัยฃองท่านนะบีมูฮัมมัด โดยท่านได้สถาปนารัฐสวัสดิการอิสลามขึ้นในนครมะดีนะฮ์ หลักการสำคัญที่ท่านนะบีนำมาใช้คือหลัก อัลมุอาคอต (المؤاخاة) หมายถึงการอยู่ร่วมกันฉันพี่น้องระหว่างมุสลิม และหลัก อัลมุวาเฏาะนะฮ์ (المواطنة) หมายถึงการอยู่ร่วมกันฉันพี่น้องร่วมชาติระหว่างมุสลิมกับต่างศาสนิก หลักคำสอนที่สำคัญของอัลมุอาคอตคือ ฮะดีษของท่านนะบีที่กล่าวว่า “ อุปมาบรรดาผู้ศรัทธา(มุอ์มิน)ในความรัก ความเมตตา และความเอื้ออาทรต่อกัน อุปมัยร่างกาย เมื่อส่วนหนึ่งเจ็บป่วย ส่วนอื่นๆทั้งหมดก็พลอยได้รับผลกระทบด้วยการอดหลับอดนอนและการป่วยไข้ไปด้วย ““(อัลบุคอรีย์ : หมายเลข 6011 )และฮะดีษที่ว่า “มุอ์มินผู้ศรัทธานั้นเปรียบเสมือนอาคารที่ต่างยึดเหนี่ยวและประคับประคองซึ่งกันและกัน “(อัลบุคอรีย์ : หมายเลข 481 )
3.2 ขอบข่ายสวัสดิการสังคมในอิสลาม
สวัสดิการสังคมในอิสลามนั้นมีความหมายกว้างสมบูรณ์และครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน กล่าวคือการสวัสดิการสังคมในอิสลามนั้นมิใช่เพียงการให้ความช่วยเหลือในด้านทรัพย์สินเท่านั้น แต่ครอบคลุมด้านต่าง ๆ ดังนี้
- ด้านอุดมการณ์โดยการฝึกฝนให้ปัจเจกบุคคลในสังคมมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน
- ด้านจริยธรรม โดยการปลูกฝังให้ปัจเจกบุคคลมีบุคลิกภาพที่สมบูรณ์ในฐานะเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม
- ด้านการปลูกฝังให้สังคมเป็นสังคมที่มีวิญญาณและนิสัยแห่งสวัสดิการ มีจิตอาสา เป็นแบบแผนของพฤติกรรมในวิถีชีวิตทางสังคม
- ด้านระบบความสัมพันธ์และการเกื้อกูลกันในระดับครอบครัว
- ด้านระบบความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลกับองค์กรของสังคม ระหว่างเครือญาติ และระหว่างมวลมนุษยชาติด้วยกัน
- ด้านความสัมพันธ์ทางทรัพย์สิน
- ด้านระบบเศรษฐกิจ
- ด้านการปกป้องจริยธรรมและคุณธรรมของคนในสังคม (อับดุลลอฮ์ นาซิฮ์ อุลวาน ,1985: 20)
การสวัสดิการสังคมในอิสลามเป็นการสวัสดิการเชิงบูรณาการที่ถือว่าทุกองค์ประกอบของการดำเนินชีวิตมีความผูกพันซึ่งกันและกัน จำเป็นที่รัฐและองค์กรที่รับผิดชอบจะต้องดูแลและให้สวัสดิการด้านต่างๆอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
3.3 จุดประสงค์ของการให้สวัสดิการสังคมในอิสลาม
จุดประสงค์หลักของการให้สวัสดิการในอิสลามคือความพอพระทัยแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า เนื่องจากอิสลามถือว่าการมอบสิ่งที่เอื้ออำนวยให้คนมีชีวิตที่ดี และการบริการสังคมในด้านต่างๆเป็นการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์(อิบาดะฮ์) ดังที่อัลลอฮ์ได้ระบุเรื่องนี้ใว้ในอายะฮ์เดียวกันในซูเราะฮ์อันนิสาอ์ :36 ความว่า “ และพวกเจ้าจงเคารพภักดี(อิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์) และอย่าตั้งภาคีใดๆต่อพระองค์ และจงทำความดี (เอี๊ยะห์ซาน) ต่อผู้บังเกิดเก้ลาทั้งสอง ต่อญาติที่ไกล้ชิด ต่อเด็กกำพร้า ต่อคนยากจน ต่อเพื่อนบ้านที่เป็นญาติ และเพื่อนบ้านที่มิได้เป็นญาติ ต่อเพื่อนสนิท ต่อผู้เดินทาง และต่อทาสที่พวกเจ้าครอบครอง แท้จริงอัลลอฮ์ไม่ทรงรักผู้ยะโส ผู้โอ้อวด“ คำว่า “เอี๊ยะห์ซาน” ในที่นี้หมายถึงการทำความดีในรูปแบบของการช่วยเหลือเกื้อกูล การคุ้มครอง และการปกป้องจากภัยพิบัติต่างๆซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสวัสดิการในอิสลาม (ดู อิบนุกะษีร, 1880 :1/506)
นอกเหนือจากนั้นอิสลามมีจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่หลายประการอยู่เบื้องหลังคำสอนที่เกี่ยวกับสวัสดิการซื่งสามารถสัมผัสได้ อับดุลรอชีด เจะมะ (2542 :73) ได้อธิบายจุดมุ่งหมายสำคัญของการจัดระบบสวัสดิการสังคมตามหลักการอิสลามว่า “ ระบบสวัสดิการสังคมอิสลามนั้นมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และยกระดับคุณภาพการดำรงชีวิตของมนุษย์ ด้วยการประกันให้มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างสงบสุข มีความมั่นคงในอุดมการณ์ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อความเป็นอยู่ที่สุขสมบูรณ์ “
ปรัชญาของจุดมุ่งหมายโดยสรุปก็คือ อัลลอฮ์ทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นสัตว์สังคมที่จะต้องช่วยเหลือกันและเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน คนรวยต้องช่วยเหลือคนจน คนแข็งแรงต้องช่วยเหลือคนอ่อนแอ และตราบไดที่มนุษย์ช่วยเหลือกัน มนุษย์ก็จะได้รับการช่วยเหลือจากอัลลอฮ์เป็นการตอบแทน ดังที่ท่านนะบีได้กล่าวว่า “ แท้จริงอัลลอฮ์อยู่ในการช่วยเหลือบ่าว ตราบไดที่บ่าวอยู่ในการช่วยเหลือพี่น้องของเขา “ (อะฮ์หมัด : 2/274)
3.4 ผู้มีสิทธิได้รับสวัสดิการสังคมในอิสลามในรูปแบบการช่วยเหลือ
ผู้มีสิทธิได้รับสวัสดิการสังคมในอิสลามได้แก่บุคคล 8ประเภท ที่มีสิทธิได้รับซะกาต ดังรายละเอียดที่ได้กล่าวมาแล้ว นอกจากนั้นยังมีบุคคลอีกหลายประเภทที่อิสลามกำหนดให้เป็นผู้ได้รับการช่วยเหลือสงเคราะห์ ไม่ว่าเขาจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม อาทิเช่น ผู้ประสบภัยพิบัติ ผู้ตกทุกข์ได้ยาก คนชรา ผู้อ่อนแอ เด็กกำพร้าผู้ป่วยอนาถา หญิงหม้าย ผู้พิการ ผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน และเด็กจรจัด เป็นต้น(ดูอับดุลลอฮ์ นาศิฮ์ อุลวาน 1985 : 48-59)
การช่วยเหลือสงเคราะห์และให้สวัสดิการกับบุคคลเหล่านี้เป็นการแสดงออกซึ่งความมีเมตตา อันจะทำให้เขาได้รับความเมตตจากพระเจ้า ดังที่ท่านนบีมูฮำมัด ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้มีเมตตานั้นพระเจ้าอัรเราะห์มาน(ผู้มีเตตากรุณายิ่ง)จะเมตตาต่อเขา ดังนั้นท่านจงมีเมตตาต่อผู้ที่อยู่บนโลก แล้วผู้อยู่บนฟากฟ้า(อัลลอฮฺ) ก็จะเมตตาท่าน”(อะบูดาวูด หมายเลข 4941)
3.5 แหล่งที่มาของสวัสดิการสังคมตามบัญญัติศาสนา
อิสลามได้กำหนดแหล่งที่มาของรายได้เพื่อนำมาเป็นประโยชน์ในการสวัสดิการสังคม ดังนี้
1. ซะกาต เป็นทรัพย์สินสวัสดิการ ที่จะต้องนำมาจ่ายให้กับบุคคล 8 จำพวก ดังรายละเอียดที่ได้กล่าวมาแล้ว รวมถึงซะกาตฟิตร์หรือซะกาตอาหารที่ทุกคนจะต้องจ่ายในช่วงเดือนรอมฎอนหรือช่วงเช้าของวันตรุษอีดิลฟิฏริ
2. ตะบัรรูอ์ ได้แก่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการบริจาคทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคในรูปวะกัฟ หมายถึงการอุทิศสิ่งที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือสิ่งสาธารณประโยชน์ การเศาะดะเกาะห์ หมายถึงการบริจาคทำบุญเพื่อการกุศล หรือรูปอื่นๆ เช่น การบริจาคเนื้อสัตว์กุรบ่าน(สัตว์ที่เชือดพลีหลังละหมาดวันอิดิ้ลอัฎฮาและอีก3วันหลังจากนั้น) และเนื้อสัตว์อะกีเกาะห์(สัตว์ที่เชือดเนื่องในโอกาสให้กำเนิดทารกครบรอบ 7วัน) เป็นต้น
3. ฟิดยะฮฺ คือ ค่าปรับประเภทต่างๆที่ศาสนากำหมดให้ผู้เสียฟิดยะฮฺจะต้องจ่ายให้กับผู้ที่ยากไร้ อาทิเช่น ฟิดยะฮฺของผู้ที่ไม่สามารถถือศีลอดในดือนรอมฎอนเนื่องจากมีอายุมาก จะต้องจ่ายอาหารแก่คนยากจนทุกวัน เป็นต้น ( ดูอัลกุรอาน 2:184 )
4. กัฟฟาเราะฮฺ คือ การถ่ายโทษฐานละเมิดข้อบัญญัติ เช่น การไถ่โทษของผู้ที่เสียสาบาน (ไม่ปฏิบัติตามคำสาบาน) ด้วยการจ่ายอาหารหรือเครื่องนุ่งห่มให้แก่คนยากจนจำนวน10คน เป็นต้น ( ดูอัลกุรอ่าน 5 : 89 )
5. นะซัร หมายถึงการบนบานที่จะช่วยเหลือสังคมและผู้ยากไร้หากได้สมความประสงค์ ซึ่งผู้บนบานจะต้องปฏิบัติตามอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ( ดูอัลกุรอ่าน 22:29, 76:7 )
6. วะศียะฮ์ หมายถึงพินัยกรรมที่ผู้ทำทำไว้ก่อนตายว่า จะมอบทรัพย์สินส่วนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือสังคมและผู้ยากไร้ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิตลง ทายาทหรือผู้เสมือนทายาทจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพินัยกรรมนั้นๆ ตามกรอบของศาสนบัญญัติ (ดูอัลกุรอาน 2 : 180)
7. นัฟเกาะฮฺ หมายถึงค่าเลี้ยงดูที่ศาสนากำหนดให้ผู้เลี้ยงดูจะต้องจ่ายให้กับผู้อยู่ใต้การดูแล เช่น นัฟเกาะฮฺที่สามีจะต้องจ่ายให้กับภรรยา บิดาจะต้องจ่ายให้บุตรที่ยังเล็ก และบุตร(ที่โตแล้ว) จะต้องจ่ายให้บิดามารดา(ที่ขาดแคลน) เป็นต้น (ดูอัลกุรอาน 2 :233)
8. ฮิบะฮ์และฮะดียะฮ์ ฮิบะฮ์ หมายถึงการให้เป็นกรรมสิทธิ์โดยทันทีด้วยความเสน่หา มีความหมายครอบคลุมการให้หลายลักษณะด้วยกัน ส่วนฮะดียะฮ์ หมายถึงการให้เป็นของขวัญหรือของกำนัลเพื่อสร้างความผูกพันให้แน่นแฟ้น หรือต้องการให้เกยรติอีกฝ่ายหนึ่ง ท่านนะบี ได้กล่าวว่า “ พวกท่านจงให้ของขวัญต่อกัน พวกท่านก็จะรักกัน “ (อัลบุคอรีย์ในอัลอะดะบุลมุฟร็อด : หมายเลข 248)
3.6 กองทุนสวัสดิการสังคม
ในชุมชนมุสลิมมีการก่อตั้งกองทุนเพื่อสวัสดิการสังคมในหลายรูปแบบ ดังนี้
1. รูปแบบมูลนิธิ เป็นรูปแบบที่นิยมและแพร่หลาย โดยเฉพาะในชุมชนที่อยู่ในเมือง มูลนิธิที่พบมากที่สุดได้แก่มูลนิธิเพื่อสวัสดิการการศึกษา เป็นมูลนิธิที่มักผูกพันกับโรงเรียนสอนศาสนา หรือโรงเรียนสอนสามัญควบคู่ศาสนา ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก การที่โรงเรียนต่างๆเหล่านี้จัดตั้งเป็นมูลนิธิก็เพื่อสะดวกต่อการโอนทรัพย์สินบริจาคที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ให้กับโรงเรียนผ่านมูลนิธิ เนื่องจากโรงเรียนไม่สามารถรับโอนทรัพย์สินเหล่านั้นได้ นอกเหนือจากมูลนิธิเพื่อสวัสดิการการศึกษาแล้วยังมีมูลนิธิที่ก่อตั้งขึ้นด้วยจุดประสงค์ในการให้สวัสดิการเฉพาะด้าน เช่น มูลนิธิเพื่อเด็กกำพร้า มูลนิธิเพื่อการพัฒนา มูลนิธิเพื่อเผลแผ่อิสลาม และมูลนิธิเพื่อสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีมูลนิธิต่างๆที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้วายชนม์ โดยทายาทมีจุดประสงค์ต้องการให้ผู้วายชนม์ได้รับอานิสงค์ และผลบุญอย่างต่อเนื่อง
2. รูปแบบสวัสดิการในคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในส่อนของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดนั้น การบริหารจัดการเกี่ยวกับสวัสดิการยังไม่มีความชัดเจน และยังไม่มีระบบที่ดี กรรมการมัสยิดส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นการบริหารมัสยิดที่การปลูกสร้างและการทะนุบำรุงอาคาร และการประกอบศาสนะกิจของสับปุรุษ มักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิการที่สับปุรุษในชุมชนมัสยิดควรได้รับ มัสยิดส่วนใหญ่จึงไม่มีกองทุนหรือฝ่ายกิจการซะกาตและสวัสดิการสังคมที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามมัสยิดทุกมัสยิดมีสวัสดิการที่เกี่ยวกับการศึกษาและการให้ความช่วยเหลือตามวาระและโอกาส ซึ่งเป็นไปตามหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม
กรณีของกรรมการมัสยิดไม่แตกต่างจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมากนัก เนื่องจากไม่พบว่ามีกองทุนลักษณะดังกล่าวอยู่ในแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการจังหวัดในหลายจังหวัด สำหรับจังหวัดที่มีกองทุนหรือฝ่ายกิจการซะกาตและสวัสดิการสังคมอยู่ในแผนการดำเนินงานก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังไม่มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบที่น่าพอใจ ลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะเดียวกันกับกองทุนหรือฝ่ายกิจการซะกาตและสวัสดิการสังคมที่มีอยู่ในแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการอิสลามประจำประเทศไทย
3. รูปแบบสมาคมอิสลาม เป็นรูปแบบสวัสดิการที่สมาคมมุสลิมในชุมชนจัดตั้งขึ้น เพื่อจุดประสงค์ในการรวมตัวของสมาชิกเพื่อรับใช้สังคมและรับใช้ศาสนาอิสลาม สมาคมเหล่านี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่จะจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
4. รูปแบบสหกรณ์อิสลาม เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่แพราหลาย โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีสหกรณ์อิสลามอยู่เป็นจำนวนมาก ข้อจำกัดของสหกรณ์อิสลามส่วนใหญ่ก็คือ มักจะให้สวัสดิการแก่สมาชิกของสหกรณ์เท่านั้น อย่างไรก็ตามพบว่ามีหลายสหกรณ์ที่สามารถระดมเงินซะกาต และเงินบริจาคทั่วๆไป จากสมาชิกและอื่นๆ เพื่อมอบเป็นสวัสดิการแก่ผู้มีสิทธิในชุมชน โดยไม่เลือกว่าจะเป็นสมาชิกของสหกรณ์หรือไม่ก็ตาม
5. รูปแบบกองทุนเพื่อการกุศล เป็นรูปแบบที่ทายาทนิยมทำให้แก่ผู้ตาย โดยมีคำสั่งเสียหรือพินัยกรรมเป็นหลัก หรือไม่มีก็ตาม เป็นกองทุนที่บริหารโดยทายาทหรือผู้จัดการมรดก ให้เป็นไปตามคำสั่งเสียหรือพินัยกรรมของผู้ตาย หรือเป็นไปตามมติของทายาท เพื่อให้ผู้ตายได้รับผลบุญจากการดำเนินการสวัสดิการของกองทุนนั้นๆ กองทุนประเภทนี้ถือเป็นกองทุนส่วนบุคคล ไม่มีการจดทะเบียน แต่เป็นที่รับรู้ในสังคมและชุมชนเนื่องจากมีบทบาทอย่างมากในการเกื้อหนุนองค์กรศาสนา และการให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ยากไร้
ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข
5 ต.ค. 2562
14 มิ.ย. 2566
17 ก.ย. 2562
17 ก.ย. 2562