Last updated: 17 ก.ย. 2562 | 3359 จำนวนผู้เข้าชม |
มุสลิมจะทำอะไรกันดีในเดือนมุฮัรร็อม?
ผศ.ดร. อับดุลเลาะ หนุ่มสุข
ฝ่ายบรรณกิจและการเผยแผ่ในคนะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร
ความสำคัญของเดือนมุฮัรร็อม
เดือนมุฮัรร็อมเป็นเดือนที่หนึ่งของปฎิทินอิสลาม เป็นเดือนหนึ่งในสี่เดือนที่ฮะรอม ได้แก่ซู้ลเกาะดะฮ์(เดือนที่11) เดือนซู้ลฮิจญะฮ์(เดือนที่12) เดือนมุฮัรร็อม(เดือนที่1) และเดือนเราะญับ(เดือนที่7) นักวิชาการส่วนใหญ่มีทัศนะว่าเดือนฮะรอมที่ประเสริฐที่สุดได้แก่เดือนมุฮัรร็อมดังที่ท่าน อัลหะซัน อัลบัสรีได้กล่าวว่า:
" إنّ الله افْتَتح السنةَ بشهرِ حرامٍ، وخَتَمَها بشهرِ حرامٍ، فلَيْسَ شهرٌ في السنة بعدَ شهر رمضان أعْظَمُ عند الله من المحرّم "
“อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้เริ่มต้นปีด้วยเดือนฮะรอม(หมายถึงเดือนมุฮัรร็อม) และปิดท้ายปีด้วยเดือนฮะรอม(หมายถึงเดือนซู้ลฮิจญะฮ์) และไม่มีเดือนใดในรอบปีหลังจากเดือนรอมฎอนจะยิ่งใหญ่สำหรับอัลลอฮ์ยิ่งกว่าเดือนมุฮัรร็อม : (หนังสือ لطائف المعارف:ابن رجب الحنبلي หน้า37)
การเฉลิมฉลองปีใหม่ในอิสลาม
แม้ว่าเดือนมุฮัรร็อมจะเป็นเดือนที่หนึ่งในปฏิทินอิสลาม แต่ก็ไม่มีบัญญัติให้มีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่แต่อย่างใด วันที่31 เดือน ซู้ลฮิจญะฮ์ และวันที่1 เดือนมุฮัรร็อมของทุกปี จึงเป็นวันทำการปกติของโลกมุสลิมโดยทั่วไป และไม่พบว่ามีประเทศมุสลิมประเทศใดกำหนดให้2วันนี้เป็นวันหยุด หรือมีการจัดงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามอิสลามได้กำหนดให้มุสลิมมีวัน2วันสำหรับการเฉลิมฉลอง คือวันที่1 ของเดือนเชาวาล (เดือนที่10) เรียกว่าวันตรุษอีดิลฟิฎร์ และวันที่10 เดือนซุลฮิจยะฮ์ (เดือนที่12) เรียกว่าวันตรุษอีดิ้ลอัฎฮา มุสลิมจะใช้วันตรุษทั้งสองวันนี้เพื่อเฉลิมฉลองแทนวันขึ้นปีใหม่ ไม่มีการจุดพลุ ดอกไม้ไฟ หรือประทัด ไม่มีการ Count down หรือนับถอยหลัง ไม่มีการดื่มฉลอง เต้นรำ หรือร้องเพลง หรือกิจกรรมบันเทิงอื่นๆ ที่ต้องห้าม มีแต่การขอบคุณอัลลอฮ์ด้วยการละหมาดอีดร่วมกัน การกล่าวสดุดีในความเกรียงไกรและความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์ การฟังธรรมเทศนา การบริจาคทานแก่คนยากจนและเด็กกำพร้า การเชือดสัตว์เพื่อแจกเนื้อและปรุงอาหารเลี้ยง การเยี่ยมเยียนกันในหมู่ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง การให้อภัยกันในสิ่งที่ได้ล่วงเกิน การมอบของขวัญและของกำนัลแก่ผู้ที่เคารพนับถือ และการอวยพรแก่กัน รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่สร้างสรรค์ ที่ไม่ละเมิดบัญญัติศาสนาของอัลลอฮ์
สิ่งที่ควรปฏิบัติในเดือนมุฮัรร็อม คือการถือศีลอดในวันที่ 10
วันที่สำคัญในเดือนมุฮัรร็อมคือวันที่10 เรียกวันนี้ว่าวันอะชูรอ สิ่งที่ควรปฏิบัติในวันอะชูรอคือการถือศีลอด ดังปรากฏในรายงานจากอิบนฺ อับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺมา กล่าวว่า: ท่านนบี ซอลลอลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เดินทางไปยังนครมาดีนะฮ์ ท่านได้เห็นชาวยิวถือศีลอดในวันอะชูรอ ท่านนบีได้ถามพวกเขาว่า : วันนี้เป็นวันอะไร? พวกเขากล่าวว่า : วันนี้เป็นวันที่ยิ่งใหญ่ เป็นวันที่อัลลอฮ์ทรงให้นบีมูซาและชาวอิสรออีล ได้รับความปลอดภัย และให้ฟิรเอาน์ กับพรรคพวกของเขาจมน้ำ ท่านนบีมูซาจึงได้ถือศีลอดในวันนี้เพื่อขอบคุณอัลลอฮ์ ท่านนบีได้กล่าวว่า :
" فأنا أحقُّ بموسى منكم " فصامه وأمَر بِصيامِه .
“ฉันนั้นสมควรอย่างยิ่งที่จะดำเนินตามมูซายิ่งกว่าพวกท่าน ท่านนบีจึงถือศีลอด และใช้ให้(มุสลิม) ถือศีลอดด้วย”
(บันทึกโดยอัลบุคอรี หมายเลขหะดีษ 2004 )
การถือศีลอดในวันอะชูรอนั้นมีค ุณค่าและความปนะเสริฐรองจากการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ดังปรากฏในรายงานของท่านอบูฮูรอยเราะฮ์ จากท่านรอซู้ล ซอลลอลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
" أفضل الصيام بعد رمضان شهر الله المحرم، وأفضل الصلاة بعد الفريضة صلاة الليل "
“การถือศีลอดที่ประเสริฐสุดหลังจากเดือนรอมฎอนคือการถือศีลอดในเดือนของอัลลอฮ์ อัลมุฮัรรอม และการละหมาดที่ประเสริฐที่สุดหลังจากละหมาดฟัรดู คือละหมาดในยามค่ำคืน”
(บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1163 และอัตติรมิซียฺ หมายเลขหะดีส 438 )
การถือศีลอดในวันที่ 9ของเดือนมุฮัรรอม
นอกเหนือจากการถือศีลอดในวันที่10แล้ว ยังมีซุนนะฮ์ให้ถือศีลอดในวันที่9 เรียกว่าวันตาซูอาอ์อีกด้วย ท่านนบีได้ให้เหตุผลในการให้ถือศีลอดวันที่ 9 ว่า เพื่อให้มีความแตกต่างกับชาวยิวที่ได้กำหนดให้ถือศีลอดในวันอาชูรอเพียงวันเดียว ท่านรอซูลได้กล่าวว่า
" لئن بقيتُ إلى قابلٍ لأصومنّ التاسع "
“ถ้าหากว่าฉันยังคงมีชีวิตอยู่ในปีต่อไป ฉันจะถือศีลอดในวันที่9 ด้วย”
(บันทึกโดย อะห์หมัด หมายเลขหะดีษ 1736 และมุสลิมหมายเลขหะดีษ 1134 )
จากเหตุผลของซุนนะฮ์ข้อนี้ ทำให้ทราบถึงเจตนารมณ์ของอิสลามอย่างหนึ่งก็คือการไม่ทำอะไรตามอย่างชนต่างศาสนิก โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนกิจ แม้ว่าศาสนกิจนั้นๆจะมีความละม้ายคล้ายคลึงกันก็ตาม
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเดือนมุฮัรรอม
มีมุสลิมบางคนเข้าใจผิดว่าเดือนมุฮัรรอมเป็นเดือนต้องห้าม เพราะว่ามุฮัรรอมแปลว่าต้องห้าม จึงห้ามปฏิบัติภารกิจต่างๆที่เคยปฏิบัติในเดือนอื่นๆ เช่น ห้ามจัดพิธีนิกาฮ์ ห้ามจัดพิธีสู่ขอ พิธีหมั้น ห้ามทำบุญมงคลต่างๆ ห้ามปลูกบ้านหรือย้ายบ้าน ห้ามปลูกต้นไม้ ห้ามซื้อรถยนต์ หรือพาหนะขับขี่อื่นๆ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจผิดทั้งสิ้น เพราะที่จริงแล้วเดือนมูฮัรรอมเป็นเดือนที่ห้ามการทำสงครามเหมือนเดือนฮะรอม อื่นๆอีกสามเดือน มิได้ห้ามให้กระทำกิจกรรมอื่นๆ แต่อย่างใด
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
1.) การละหมาดในรูปแบบเฉพาะของวันอะชูรอ เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานที่เชื่อถือได้ในเรื่องดังกล่าว
2.) การอ่านดุอาอ์เฉพาะเนื่องในวันอะชูรอ เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ ยืนยันว่าให้มีการอ่านดุอาอ์เฉพาะในวันนี้
3.) การแสดงความเศร้าโศกเสียใจในวันอะชูรอ ด้วยการร้องให้รำพึงรำพัน การตีอกชกตัว การกรีดศีรษะ การทำร้ายตัวเอง การลุยไฟ หรืออื่นๆ เพื่อรำลึกถึงการที่ท่านอิหม่ามฮุเซ็นอิบนิอะลีอิบนิฏอลิบ ถูกสังหารในวันนี้ ที่ตำบลกัรบาลาฮ์
4.) การทำบุญเลี้ยงอาหารในตอนกลางวันของวันอะชูรอ เนื่องจากขัดแย้งกับซุนนะฮ์ของท่านนบีในการให้ถือศีลอด และหากจะเปลี่ยนจากการทำบุญในตอนกลางวันมาเป็นการทำบุญเลี้ยงละศีลอดแก่ผู้ถือศีลอดในวันนั้นก็จะเป็นประเพณีที่ดียิ่ง ส่วนการจะทำขนมหรือทำอาหารประเภทไหนอย่างไร ไม่น่าจะมีข้อห้าม ที่สำคัญก็คือ อย่าทำให้บรรยากาศของวันอะชูรอซึ่งเป็นวันที่มีซุนนะฮ์ให้มุสลิมถือศีลอดเสียไปด้วย การทำบุญเลี้ยงอาหารกันอย่างไม่ละอาย
ขออัลลอฮ์ได้ประทานเตาฟิกและฮิดายะฮ์แก่ผู้อ่านทุกท่าน
14 มิ.ย. 2566
17 ก.ย. 2562
5 ต.ค. 2562
17 ก.ย. 2562