การดะฮ์วะฮ์อิสลามในบริบทสังคมมุสลิมไทย ตอนที่ 3

Last updated: 17 ก.ย. 2562  |  2255 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การดะฮ์วะฮ์อิสลามในบริบทสังคมมุสลิมไทย ตอนที่ 3

ผศ.ดร.อับดุลเลาะ   หนุ่มสุข

รองประธานกรรมการอิสลาม กรุงเทพมหานคร


การดะฮ์วะฮ์อิสลามในบริบทสังคมมุสลิมไทย

ตอนที่ 3

            คำสอนของอิสลามเป็นคำสอนที่มีความเป็นสายกลาง (วะสะฏียะฮ์) เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในทุกกาละเทศะ ทุกเวลา และทุกสถานที่ ในส่วนบริบทของสังคมไทยนั้นถือได้ว่าเป็นสังคมที่เอื้อต่อการทำงานดะอ์วะฮ์ อิสลามเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่แต่ละวัฒนธรรมไม่ได้เป็นศัตรูต่อกัน แต่ต่างฝ่ายต่างเอื้อต่อกัน เคารพ และให้เกียรติต่อกัน บริบทอย่างนี้มุสลิม ควรมีจุดยืนที่ไม่สุดโต่ง และไม่หย่อนยาน จุดยืนดังกล่าว คือจุดยืนของอัลกุรอานและอัสสุนนะฮ์ที่สอนให้มุสลิมมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพือนต่างศาสนิก ให้ความเป็นธรรมต่อเพื่อนต่างศาสนิก (ดูซูเราะห์อัลมุมตะฮินะฮ์ อายะห์ที่ 8) และไม่ดูหมิ่นดูแคลนสิ่งเคารพบูชาของเพื่อนต่างศาสนิก (ดูซูเราะห์อัลอันอาม อายะฮ์ 108) มุสลิมควรเป็นต้นแบบของการมีอัธยาศัยที่ดีน่าคบหาสมาคม และไม่เป็นพิษ เป็นภัยกับใคร ในขณะเดียวกันมุสลิมก็จะต้องเคร่งครัดใน 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ

            1. เรื่องความเชื่อความศรัทธา

            2. เรื่องฮาลาล และฮารอม

            ความเคร่งครัดใน 2 เรื่องดังกล่าว จะไม่ทำให้มุสลิมเป็นคนสุดโต่ง หรือเป็นคนแปลกแยก ไม่สามารถปฏิสัมพันธ์กับใครได้ ตรงกันข้ามความเคร่งครัดจะทำให้มุสลิมกลายเป็นผู้เชิญชวน หรือเป็นผู้เผยแพร่อิสลามโดยปริยาย

            การประพฤติตนของมุสลิมในสังคมไทยปัจจุบันจะมีอยู่ 3 ลักษณะคือ

            1. เคร่งครัดเกินไป จนมีลักษณะเป็นความสุดโต่ง ก่อให้เกิดความยากลำบากในการปฏิบัติ และก่อให้เกิดอคติ  ความรังเกียจ และการต่อต้านจากสังคมต่างศาสนิกรอบข้าง

            2.  หย่อนยาน ไม่เคร่งครัด ไม่ใยดีต่อหลักการศาสนา และพร้อมที่จะละเมิดบัญญัติศาสนาด้วยข้ออ้างต่างๆทางสังคมมากมาย

            3. สายกลางที่อยู่ระหว่าง ความสุดโต่งกับความหย่อนยาน

            บนเวทีต่างๆในสังคมมักจะมีคนประเภทที่ 1 และ 2 ไปยืนอยู่เป็นส่วนใหญ่ คนประเภทที่ 3 มักไม่มีที่ยืน คนสายกลางที่อยุ่ในประเภทที่ 3 นี้เป็นคนที่น่าสนใจ เป็นคนที่น่าจะมีพื้นที่บนเวทีให้ยืนมากกว่า เพราะถ้ามองในแง่ของการดะอวะห์อิสลามแล้วมุสลิมที่ดำรงตนอยู่ในแนวทางสายกลางมักจะเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับมากกว่ามุสลิมใน 2 ประเภทแรก

 คำถามคือใครคือมุสลิมสายกลาง ?

            มุสลิมสายกลาง คือมุสลิมสากลใช่ไหม ?

            คือมุสลิมที่สามารถทำตัวเข้ากับใครก็ได้ในสังคมใช่ไหม ?

            คือมุสลิมที่สามารถตีความอัลกุรอาน และซุนนะฮตามหลักวิชาการสมัยใหม่ที่กำลังแพร่หลายอยู่ใช่ไหม  ?

            คือมุสลิมที่สามารถหลอมรวมคำสอนของอิสลาม กับคำสอนของศาสนาอื่นให้เป็นหนึ่งเดียวได้ใช่ไหม ?

            หรือคือมุสลิมที่สามารถเข้ากับทุกกลุ่มได้ สามารถเป็นได้ทั้งซุนนีย์ และชีอะฮ  เป็นได้ทั้งสลัฟ และเคาะลัฟ เป็นได้ทั้งอิควาน  ตับลีฆ  และเฏาะรีกัตซูฟี ใช่ไหม ?

            คำตอบคือไม่ใช่

            มุสลิมสายกลางในนิยามทางทฤษฏี คือมุสลิมที่ยึดมั่นในหลักการ ยึดมั่นในกีตาบุลลอฮ และซุนนะของท่านนบี เพราะแนวทางของกีตาบุลลอฮ และซุนนะห์ของท่านนบีเป็นแนวทางสายกลาง (วะสะฏียะฮ์) เพียงแต่ว่าแนวทางสายกลางนั้น มีรายละเอียดที่เป็นองค์ประกอบ และมีคุณสมบัติให้พิจารณาอยู่ 5 ประการดังนี้ :

            1. อัลค็อยรียะห์ ต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

            2. อัลอัดลุ ต้องเป็นความยุติธรรมไม่ลำเอียง

            3. อัลยุสร์ ต้องเป็นความสะดวกง่ายดาย ไม่ลำบาก

            4. อัลฮิกมะห์ ต้องมีวิทยปัญญา  มีเหตุมีผลทางด้านการนำมาซึ่งคุณประโยชน์และการป้องกันโทษ

            5. อัลอิสติกอมะห์ ต้องมีความเที่ยงตรง ยึดมั่นในแนวทาง และหลักคำสอน

            6. อัลบัยนียะฮ์ ต้องมีความสมดุล ระหว่าง 2 สิ่ง หรือหลายสิ่งที่แตกต่างกันหรือขัดแย้งกัน เช่นระหว่างดุนยากับอาคีเราะฮ์ ระหว่างร่างกายกับจิตวิญญาณ ระหว่างสิทธิ์กับหน้าที่ ระหว่างปัจเจกบุคคล(ฟัรฏูอัยน์)กับหมู่คณะ (ฟัรฏูกิฟายะฮ์) ระหว่างอุดมคติกับความเป็นจริงเป็นต้น

            คุณสมบัติทัง 6 ข้อนี้คือคุณสมบัติของหลักทางสายกลางที่จะต้องนำมาพิจารณา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดสินพฤติกรรมของบุคคลหรือคณะบุคคลในหลายๆกรณีว่าเป็นพฤติกรรมที่อยู่ในในแนวทางสายกลางหรือไม่ได้อยู่ในแนวทางสายกลาง  ตราบใดที่ยังไม่ได้นำเอาคุณสมบัติทั้งหกประการไปตรวจสอบและพิจารณาอย่างรอบคอบ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้