Last updated: 17 ก.ย. 2562 | 2757 จำนวนผู้เข้าชม |
การเผยแผ่อิสลาม (ดะอ์วะฮ์) ในบริบทสังคมไทย(ตอน1)
ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข
รองประธานกรรมการอิสลาม กรุงเทพมหานคร
- คุณมาจากไหน ?
- มาจากไทยแลนด์
- ปัตตานีใช่ไหม ?
- ไม่ใช่ ผมมาจากกรุงเทพฯ (Bangkok) เป็นเมืองหลวงของประเทศ
- มาชาอัลลอฮ ! ในกรุงเทพฯ มีมุสลิมมากไหม ?
- มีหลายแสนคน ยังไม่มีผลสำรวจที่เป็นทางการ แต่ผมคิดว่ามีเกือบหนึ่งล้านคน
- มาชาอัลลอฮ ! แล้วการดะอ์วะห์อิสลามในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง?
· มีมัสยิดเกือบ 4,000 แห่งกระจายอยู่ในทั่วทุกภาค แต่ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้
· มีโรงเรียนสอนศาสนาเป็นหมื่นแห่ง
· มีธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจ
· มีทีวีมุสลิม 24 ชั่วโมง
· มีรายการวิทยุมุสลิม หลายสิบสถานี
· มีวารสาร หนังสือพิมพ์ และจุลสารเกี่ยวกับอิสลาม และมุสลิมออกเป็นรายปี รายเดือน รายสองเดือน สามเดือน รายปักษ์ และออกในวาระต่างๆ
· มีหนังสือเกี่ยวกับอิสลามตีพิมพ์ และเผยแพร่จากสำนักต่างๆมากมาย ส่วนหนึ่งเป็นหนังสือที่แปลจากภาษาต่างประเทศ เช่นภาษาอาหรับ และภาษาอังกฤษ
· มีงานแปลอัลกุรอานเป็นภาษาไทยมากกว่า 5 ชิ้น หนึ่งในนั้นเป็นงานแปลที่ตีพิมพ์ และเผยแพร่ในราชูปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ไทย และอีกหนึ่งชิ้นตีพิมพ์ และเผยแพร่โดยศูนย์กษัตริย์ฟาฮัด เพื่อเป็นการพิมพ์ และเผยแพร่อัลกุรอาน นครมาดีนะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
· มีการจัดประชุม สัมมนา อภิปราย บรรยาย เกี่ยวกับอิสลามอย่างอิสระเสรี และเปิดเผย ตามมัสยิด โรงเรียน สมาคม มูลนิธิ และศูนย์กลางต่างๆทั่วประเทศ
· และที่สำคัญก็คือมีกฎหมายพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารองค์กรศาสนาอิสลา และพระราชบัญญัติเกี่ยวกับกิจการฮัจย์ มีจุฬาราชมนตรี (ชัยคุลอิสลาม ฟี ไทยแลนด์) เป็นผู้นำสูงสุดของมุสลิม
ข้อมูลข้างต้นนี้เป็นข้อมูลที่ผมมักจะใช้ในการสนทนา และตอบคำถามเพื่อนต่างชาติ ที่ถามเกี่ยวกับมุสลิมในประเทศไทย ข้อมูลที่คนต่างชาติทึ่ง และชื่นชม สภาพของมุสลิมในประเทศไทย ได้แก่ :
1. การมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา การทำกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนา และการเผยแพร่ศาสนา
2. การมีพระมหากษัตริย์ที่เป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก สนพระทัยในศาสนาอิสลาม และอุปถัมภ์กิจการต่างๆของศาสนาตลอดมา
3. การมีธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
4. การมีกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม
5. การอำนวยความสะดวกจากฝ่ายรัฐ ในกิจการที่เกี่ยวกับการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ของมุสลิมในประเทศไทย
6. การมีศูนย์วิทยาศาสตร์อาหารฮาลาลแห่งแรกของโลกที่ได้มาตรฐาน ข้อนี้เป็นข้อมูลใหม่ที่เพิ่มเติมจากข้อมูลข้างต้น
ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมของมุสลิมไทยที่คนต่างชาติชื่นชม และอิจฉา เนื่องจากมีมุสลิมในหลายประเทศทั้งประเทศที่มีมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย และมุสลิมเป็นชนกลุ่มใหญ่ ไม่มีสิ่งเหล่านี้ (อัลฮัมดุลิลลาฮ์)
ผมมักจะถือโอกาสอธิบายให้เพื่อนต่างชาติได้เข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยในหลายเรื่องที่เขาน่าจะรู้ เช่นผมบอกเขาว่าคุณทราบไหมว่าศาสนาพุทธในประเทศไทยนั้นไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาอิสลาม มุสลิมกับพุทธศาสนิกชน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข ยิ่งกว่านั้น ยังถือว่าคำสอนในศาสนาพุทธมีส่วนเอื้อต่อการดำรงอยู่ของมุสลิมอีกด้วย เนื่องจากในศาสนาพุทธมีคำสอนให้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ให้มนุษย์มีความเมตตากรุณา ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน และไม่จองเวรต่อกัน และให้ละวางโดยไม่ยึดความเป็นอัตตา คำสอนเหล่านี้เป็นคำสอนที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ามุสลิมในประเทศไทยได้รับประโยชน์จากคำสอนเหล่านี้ พัฒนาการการดะอ์วะฮ์ของมุสลิมในประเทศไทย จึงเป็นพัฒนาการสีขาว (ไม่เปื้อนเลือด) และเป็นพัฒนาการที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
เคยมีนักปราชญ์ไทยที่เป็นชาวพุทธ ตั้งข้อสังเกตว่าในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยเหตุผลสามประการคือ :
1. ศาสนาอิสลาม อนุญาตไห้มุสลิมมีภรรยาได้ถึง 4 คน
2. เมื่อมุสลิมแต่งงานกับต่างศาสนิก ต่างศาสนิกจะต้องเปลี่ยนมาเข้ารับอิสลาม
3. ศาสนาอิสลามไม่อนุญาตให้มีการคุมกำเนิด
เหตุผลทั้งสามประการนี้เป็นเหตุผลที่น่าสนใจมาก ทั้งในแง่ของศาสนาและในแง่ของสังคมศาสตร์
สำหรับเหตุผลข้อที่หนึ่ง อาจเป็นความเข้าใจของต่างศาสนิกส่วนใหญ่ที่มักเข้าใจว่าคนมุสลิมจะต้องมีภรรยามากกว่าหนึ่งคน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นไปตามนั้น มุสลิมไทยที่มีภรรยามากกว่าหนึ่งคนในคราวเดียวกันมีจำนวนน้อยมาก ยิ่งมุสลิมไทยที่มีภรรยาในคราวเดียวกันสี่คนยิ่งหาแทบไม่พบ เรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการสำรวจชุมชนมุสลิมของมัสยิดต่างๆในประเทศไทย ซึ่งผมเชื่อจากสมมุติฐานเบื้องต้นว่าครอบครัวมุสลิมส่วนใหญ่ อาจจะถึงร้อยละ 99 % เป็นครอบครัวผัวเดียวเมียเดียว มีเพียงร้อยละ 1 % เท่านั้นที่ต่างออกไป อย่างไรก็ตามสิ่งที่มุสลิมจะต้องให้ความเข้าใจต่อต่างศาสนิกในเรื่องนี้ก็คือ การมีภรรยาหลายคนในอิสลามมิใช่เป็นบัญญัติที่คนมุสลิมจะต้องปฏิบัติ แต่เป็นสิทธิ์ของฝ่ายชายที่มีความพร้อมหรือมีความจำเป็น เป็นสิทธิ์ที่ผูกโยงกับเรื่องหน้าที่ๆชายผู้เป็นสามีจะต้องปฏิบัติต่อภรรยาทุกคนด้วยความเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องสนุก และไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย อาจพูดได้ว่าเป็นเรื่องความสามารถเฉพาะตัว และเป็นภาวะที่ไม่ปกติก็เห็นจะได้ แต่ที่แน่ๆก็คือบัญญัตินี้มาจากพระผู้เป็นเจ้าเบื้องบนที่มุสลิมเชื่อว่าเป็นบัญญัติที่สามารถแก้ปัญหาสังคมมนุษย์ได้ ไม่ว่าบริบทของสังคมมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม ( มีต่อฉบับหน้า)
14 มิ.ย. 2566
17 ก.ย. 2562
17 ก.ย. 2562
5 ต.ค. 2562