นบีมุฮัมมัด (ซล.) กับทางสายกลาง

Last updated: 23 พ.ค. 2562  |  11726 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นบีมุฮัมมัด (ซล.) กับทางสายกลาง

บทนำ

        ทางสายกลางหรืออัลวะสะฏียะฮ์เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของคำสอนในอิสลาม การทำความเข้าใจต่อเอกลักษณ์ดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาวิถีชีวิตของท่านนบีมุฮัมมัด

ในฐานะของศาสนทูตที่อัลลอฮ์  ได้แต่งตั้งให้ทำหน้าที่เผยแผ่คำสอน ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนจึงใคร่นำเสนอข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับท่านนบีมุฮัมมัด  กับทางสายกลางในสี่ประเด็นดังนี้:

ก.      ทางสายกลางในทัศนคติและความเชื่อเกี่ยวกับตัวท่านนบี 

ข.     ทางสายกลางในการประกอบกิจอิบาดะฮ์

ค.     ทางสายกลางในการประกอบกิจส่วนตัวและสังคม

ง.      ทางสายกลางในการวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิผู้อื่นๆ

ความหมายโดยสังเขปของทางสายกลาง

สายกลางมาจากภาษาอาหรับว่า  وَسَط หรือ وَسَطِية มีความหมายทางภาษาว่า กลาง ตรงกลาง เป็นกลางหรือ กึ่งกลาง คำนี้สามารถใช้ได้กับสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ส่วนความหมายในด้านวิชาการนั้น นักปราชญ์ได้นิยามไว้หลายความหมาย เช่น :

1- หมายถึงความสมดุล (التوازُن) เช่น ความสมดุลระหว่างด้านวัตถุกับจิตวิญญาณ ระหว่างด้านศาสนากับการดำเนินชีวิต และระหว่างร่างกายกับจิตใจ เป็นต้น

_______________________________________

[1] ผู้อำนวยการสถาบันวะสะฎียะฮ์เพื่อสันติภาพและการพัฒนา สำนักจุฬาราชมนตรี อาจารย์บัณฑิตศึกษา วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  อาจารย์พิเศษคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง รองประธานกรรมการอิสลามกรุงเทพมหานคร และผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี

*************************************

2- หมายถึงความยุติธรรม (العدل) เพราะความยุติธรรมอยู่ตรงกลางระหว่างสองฝ่าย ไม่ลำเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง

            3- หมายถึงสิ่งที่ดีที่สุด ประเสริฐที่สุด (الخَيرية والأفْضَلية) เพราะสิ่งที่ดีที่สุดมักจะอยู่ตรงกลางระหว่างสองสิ่งที่ตกขอบ

            4- หมายถึงความเที่ยงตรง (الاستِقامَة)ไม่เบี่ยงเบนออกนอกทาง เป็นความหมายเดียวกับคำว่าอัสศิรอฏ็อลมุสตะกีม  (الصِّراط المسْتقيم)  ในซูเราะห์อัลฟาติฮะฮ์  (ดู ดร.ยูซุฟ อัลเกาะเราะฎอวีย์,1983 :131-133 )

            หลักทางสายกลางนี้เป็นหลักคำสอนของอิสลามที่มีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นในท่ามกลางคำสอนต่างๆอันมากมายที่เบี่ยงเบน เป็นเอกลักษณ์ที่อัลลอฮฺได้ระบุไว้ในกุรอ่านว่า

{ وَكَذَٰلِكَ جَعَلْنَاكُمْ أُمَّةً وَسَطًا}

“และดังเช่นนั้นแหละ เราได้ให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติที่เป็นกลาง”

ท่านนบีมูฮำหมัด  กับทางสายกลาง

ท่านนบีมูฮัมหมัด  เป็นต้นแบบของศาสนทูตที่ดำเนินฃีวิตอยู่ในทางสายกลางอย่างแท้จริง  ทางสายกลางระหว่างความสุดโต่งกับความหย่อนยาน  ระหว่างจิตใจกับร่างกาย  ระหว่างสิทธิกับหน้าที่  ระหว่างปัจเจกบุคคลกับหมู่คณะ  และระหว่างอุดมคติกับความเป็นจริงของมนุษย์  ในที่นี้ขอนำประเด็นที่สำคัญเพียงสี่ประเด็นที่ชี้ชัดถึงแนวทางสายกลางของท่านนบีมูฮัมมัด  ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง : ทางสายกลางในทัศนคติและความเชื่อเกี่ยวกับตัวท่านนบี

ท่านนบีมูฮัมมัด  ได้ประกาศความเป็นมนุษย์ปุถุชนของท่านผ่านทางวะฮ์ยูจากอัลลอฮ์  ที่ว่า :

(( قُلْ إِنَّماَ أَناَ بَشَرٌ مِثْلُكُمْ ))

 

ความว่า: จงประกาศเถิด (มูฮัมมัด) ว่าอันที่จริงฉันเป็นเพียงมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งเหมือนกับพวกท่าน  (ซูเราะฮ์อัลกะฮ์ฟี่ อายะฮ์110)  ท่านไม่ปราถนาที่จะเป็นดังเช่นนบีอีซา(อะลัยฮิสสลาม)ที่ถูกพวกนะศอรอ(คริสเตียน)เทินทูนบูชาเป็นพระเจ้า  ท่านมองว่ามันเป็นความเชื่อที่สุดโต่งที่พวกเขามีต่อนบีอีซา  ด้วยเหตุดังกล่าวท่านจึงห้ามปรามเศาะฮาบะฮ์ของท่านไม่ให้ยกย่องเทิดทูนท่านเหมือนดังชาวคริสเตียนยกย่องเทิดทูนนบีอีซา ท่านนบีกล่าวว่า :

" لا تُطْروني كما أطْرَت النصارى ابنَ مريم، فإنما أنا عَبْدٌ ، فقولوا : عبدالله ورسوله "(البخاري رقم 3445)

 “ท่านทั้งหลายอย่าได้ยกยอปอปั้นฉันจนเลยเถิด เหมือนดังที่ชาวนะศอรอ (คริสต์เตียน) ยกยอปอปั้นบุตรของมัรยัม (หมายถึงการยกยอปอปั้นนบีอีซาหรือพระเยซูให้เป็นเทพและเป็นบุตรของพระเจ้า) อันที่จริงแล้วฉันเป็นเพียงบ่าวคนหนึ่ง ดังนั้นพวกท่านจงเรียกฉันว่า “บ่าวของอัลลออฮฺ และศาสนทูตของพระองค์” (อัลบุคอรีย์ หมายเลข 3445)

นอกจากนั้นท่านนบียังได้ประณามและสาปแช่งพวกที่เอาสุสานของบรรดานบีทำเป็นมัสยิด(ดูอัลบุคอรีย์หมายเลข 1330 และมุสลิมหมายเลข 529) และท่านได้ห้ามเอาสุสาน(กุโบร)ของท่านเป็นเหมือนเจว็ดที่ผู้คนพากันมากราบไหว้บูชา(ดูอัลมุวัฏเฏาะมาลิก หมายเลข 592) หรือจัดงานวันครบรอบ(อีด) ณ ที่สุสานของท่าน (ดูอบูดาวูด หมายเลข 2042) เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่เลยเถิดออกนอกแนวทางสายกลางของอิสลาม

ประเด็นที่สอง : ทางสายกลางในการประกอบกิจอิบาดะฮ์

            การประกอบกิจอิบาดะฮ์คือการประกอบความดีทั้งปวงที่อัลลอฮฺ  ทรงพอพระทัยและยินดี  โดยมีเป้าหมายเพื่อการขัดเกลาและเพื่อการใกล้ชิดพระองค์  ท่านนบีมูฮัมมัด  ได้กำชับเหล่าเศาะฮาบะฮ์ให้ระวังความสุดโต่งและความเลยเถิดในการประกอบกิจอิบาดะฮ์  และถือว่าการประกอบกิจอิบาดะฮ์จะต้องไม่กระทบกับสิทธิส่วนอื่นๆของบุคคล ครอบครัว และสังคม  ต่อไปนี้คือตัวอย่างของคำสอนและแบบอย่างของท่านนบีมูฮัมมัด ในเรื่องดังกล่าว

1.ความพอเหมาะพอดีในการประกอบกิจอิบาดะฮ์

            ฮะดีษที่ 1        

عن انس ابن مالك رضي الله عنه قال: جاء رهط إلى بيوت أزواج النبي صلى الله عليه وسلم يسالون عن عبادة النبي صلى الله عليه وسلم فلما اخبروا كأنهم تقالوها فقالوا: وأين نحن من النبي صلى الله عليه وسلم؟ فقد غفر الله ما تقدم من ذنبه وما تأخر قال أحدهم: أما أنا فاني أصلي الليل أبدا وقال آخر وأنا اعتزل النساء فلا أتزوج أبدا فجاء رسول الله صلى الله عليه وسلم إليهم فقال:) انتم القوم الذين قلتم كذا وكذا؟ أما والله إني لأخشاكم لله واتقاكم لكني أصوم وافطر واصلي وارقد وأتزوج النساء فمن رغب عن سنتي فليس مني)(البخاري رقم 4675، ومسلم رقم 1099)

            จากท่านอะนัสเล่าว่า ได้มีชาย 3 กลุ่มมายังบ้านภรรยาของท่านนบี  ถามถึงการทำอิบาดะห์ ของท่านนบี  เมื่อพวกเขาได้รับการบอกกล่าว คล้ายกับพวกเขาเห็นว่าอิบาดะฮ์ที่พวกเขาทำนั้นยังน้อยไป พวกเขาได้กล่าวว่า พวกเราอยู่ที่ไหนเมื่อเทียบกับท่านนบี ?  ทั้งๆที่ท่านนบี  ได้ถูกอภัยให้แล้วทั้งบาปที่มีอยู่ก่อน และบาปที่จะเกิดขึ้นภายหลัง คนหนึ่งของพวกเขาได้กล่าวว่า เราจะละหมาดกลางคืนตลอดไป อีกคนหนึ่งกล่าวว่าเราจะถือศีลอดตลอดปีโดยไม่ละ อีกคนกล่าวว่าเราจะแยกตัวออกจากพวกผู้หญิง และจะไม่แต่งงานตลอดไป ต่อมา ท่านนนบีได้มายังพวกเขาแล้วกล่าวว่า พวกท่านใช่ไหมที่ได้พูดอย่างนั้นอย่างนี้ พึงทราบเถิด ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ  ว่าแท้จริงฉันเป็นผู้ที่มีความกลัว และความยำเกรงมากที่สุดในหมู่พวกท่านต่ออัลลอฮฺ  แต่ฉันยังถือศีลอด และละศีลอด ฉันละหมาด และฉันนอน และฉันแต่งงานกับพวกผู้หญิง ดังนั้นผู้ใดรังเกียจแนวทางของฉัน เขาก็ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งในพวกของฉัน(อัลบุคอรีย์ หมายเลข4675)

ฮะดีษที่ 2

‏عن عبد الله بن عمرو بن العاص ‏ ‏رضي الله عنهما قال : ‏قال لي رسول الله ‏ ‏صلى الله عليه وسلم ‏ ‏يا ‏ ‏عبد الله ‏ ‏ألم أخبر أنك تصوم النهار وتقوم الليل فقلت بلى يا رسول الله قال فلا تفعل ‏ ‏صم وأفطر وقم ونم فإن لجسدك عليك حقا وإن لعينك عليك حقا وإن لزوجك عليك حقا وإن لزورك عليك حقا وإن بحسبك أن تصوم كل شهر ثلاثة أيام فإن لك بكل حسنة عشر أمثالها فإن ذلك صيام الدهر كله .(البخاري رقم 1153)

            จากอับดุลเลาะห์อิบนุอัมร์ อิบนุลอาศฺ เล่าว่าท่านนบีห้ามไม่ให้ถือศีลอดทุกวัน และห้ามอดนอนตลอดคืนเพื่อทำอิบาดะห์ ท่านกล่าวว่า อย่าทำอย่างนั้น จงถือศีลอด และละศีลอด จงละหมาดตอนกลางคืน และนอนพักผ่อน แท้จริงร่างกายของท่านมีสิทธิ์เหนือท่านดวงตาของท่านมีสิทธิ์เหนือท่าน ภรรยาของท่านมีสิทธิ์เหนือท่าน แขกผู้มาเยือนท่านก็มีสิทธิ์เหนือท่าน เพียงพอแล้วที่ท่านจะถือศีลอด เดือนละ 3 วัน เพราะ1 ความดีได้ 10 เท่า ก็เท่ากับท่านได้ถือศีลอดตลอดปี (อัลบุคอรีย์ หมายเลข1153)

ฮะดีษที่ 3

وعن ابن عباس رضي الله عنهما قال بينما رسول الله صلى الله عليه وسلم يخطب إذا هم برجل قائم فسال عنه فقالوا: أبو إسرائيل نذر أن يقوم ولا يقعد ولا يستظل ولا يتكلم ويصوم فقال النبي صلى الله عليه وسلم: (مروه فليتكلم وليستظل وليقعد وليتم صومه)    (البخاري رقم 6704 )

            ท่านอิบนุอับบาสรายงานว่า ขณะที่ท่านนนบีกำลังเทศนา (คุตบะห์) อยู่ ท่านเห็นชายคนหนึ่งยืน ท่านได้ถามถึงชายผู้นี้ และได้ทราบว่าเขาชื่ออบูอิสรออีล เขาได้บนบาน (นะซัรรฺ) ว่าเขาจะยืน เขาจะไม่นั่ง ไม่เข้าร่ม ไม่พูดกับใคร และถือศีลอด เมื่อท่านนบีทราบ ท่านจึงกล่าวว่า พวกท่านจงใช้ให้เขาพูด ให้เข้าร่ม ให้นั่ง และให้ถือศีลอดให้สมบูรณ์ (อัลบุคอรีย์ หมายเลข6704)

            ฮะดีษที่ 4

عن جابر بن سمرة (رضي الله عنه) قال: كنت أصلي مع رسول الله (صلى الله عليه وسلم) فكانت صلاته قصدًا وخطبته قصدًا. ( أخرجه مسلم رقم 866)

            จากท่านญาบิรเล่าว่า ฉันเคยละหมาดกับท่านนบี ปรากฏว่าการละหมาดของท่านนบีและคุตบะฮ์ของท่านนบีปานกลาง(ไม่สั้นเกินไปและไม่ยาวเกินไป) (มุสลิม หมายเลข 866)

2.การประกอบกิจอิบาดะฮ์อย่างสะดวกสบาย

ฮะดีษที่ 1

عن أبي هريرة رضي الله عنه قال:قال رسول الله صلى الله عليه وسلم (إن هذا الدين يسر ولن يشاد الدين احد إلا غلبه فسددوا وقاربوا وبشروا واستعينوا بالغدوة والروحة وشيء من الدلجة)(البخاري رقم 38,والنسائي رقم 4948)

            จากท่านอบูฮุรอยเราะห์ ท่านนบี  ได้กล่าวว่า “แท้จริงศาสนานั้นง่าย และไม่มีใครที่ทำให้ศาสนายาก นอกจากเขาจะพ่ายแพ้มัน ดังนั้นจงทำให้กิจการทั้งหลายเที่ยงตรง ไม่เลยเถิด จงบอกข่าวทิ่ปิติยินดี และจงใช้ยามเช้า ยามเย็น และยามดึก ช่วยในการทำความดี ”(อลบุคอรีย์ หมายเลข 38 )

            ฮะดีษที่ 2

وروت أم المؤمنين عائشة رضي الله عنها قالت قال رسول الله صلى الله عليه وسلم (إن الله لم يبعثني معنتا ولا متعنتا وإنما بعثني معلما ميسرا) ( مسلم رقم 1478,2730)

            จากท่านหญิงอาอีชะห์ ท่านนนบี  กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺ  ไม่ได้แต่งตั้งฉันมาให้เป็นผู้สร้างความลำยาก และเป็นผู้แสวงหาความลำบาก แต่อัลลอฮฺ  แต่งตั้งฉันมาให้เป็นครูผู้สั่งสอนที่สะดวกสบาย ”(มุสลิม หมายเลข 1478 และ 2730)

ฮะดีษที่ 3

عن أبي موسى رضي الله عنه قال: كان النبي صلى الله عليه وسلم إذا بعث أحدا من أصحابه في بعض أمره قال :( بَشِّرُوا وَلَا تُنَفِّرُوا وَيَسِّرُوا وَلَا تُعَسِّرُوا )(مسلم رقم 1732)

            จากอบีมูซา เล่าว่าเมื่อท่านนนบีจะส่งซออาปะคนใดไปปฏิบัติภารกิจ ท่านจะให้นโยบายโดยกล่าวว่า “พวกท่านจงทำให้เกิดความปลื้มปิติ อย่าทำให้เกิดความรังเกียจ และหมางเมิน จงทำให้เกิดความสะดวกง่ายดาย อย่าทำให้เกิดความยากลำบาก ”(มุสลิม  หมายเลข 1732)

3.การปฏิเสธรูปแบบอิบาดะฮ์ของนักบวช

ฮะดีษที่ 1

عن سعد بن أبي وقاص رضي الله عنه قال : ردّ رسول الله صلى الله عليه وسلم على عثمان بن مظعون التبَتُّل، ولو أذن له لاخْتَصيْنا . ( البخاري رقم 5063)

            จากท่านสอัด รายงานว่าท่านนบี  ได้คัดค้านอุสมาน อิบนุ มัซอูน ในการอยู่เป็นโสด เพื่อมุ่งทำอิบาดะห์ และถ้าหากว่าท่านนบีอนุญาต (ให้อุษมานอยู่เป็นโสด) แน่นอนพวกเราจะตัดลูกอัณฑะของพวกเรา(อัลบุคอรีย์ หมายเลข 5063)

        ฮะดีษที่ 2

 عَنْ سَعْدِ بْنِ أَبِي وَقَّاصٍ ، قَالَ : لَمَّا كَانَ مِنْ أَمْرِ عُثْمَانَ بْنِ مَظْعُونٍ الَّذِي كَانَ مِنْ تَرْكِ النِّسَاءِ ، بَعَثَ إِلَيْهِ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ، فَقَالَ : " يَا عُثْمَانُ إِنِّي لَمْ أُومَرْ بِالرَّهْبَانِيَّةِ أَرَغِبْتَ عَنْ سُنَّتِي ؟ " ، قَالَ : لَا ، يَا رَسُولَ اللَّهِ ، قَالَ : " إِنَّ مِنْ سُنَّتِي أَنْ أُصَلِّي ، وَأَنَام ، وَأَصُومَ ، وَأَطْعَمَ ، وَأَنْكِحَ , وَأُطَلِّقَ ، فَمَنْ رَغِبَ عَنْ سُنَّتِي ، فَلَيْسَ مِنِّي يَا عُثْمَانُ ، إِنَّ لِأَهْلِكَ عَلَيْكَ حَقًّا ، وَلِنَفْسِكَ عَلَيْكَ حَقًّا .(الدارمي في سننه 2/133 وصححه الألباني في الصحيحة رقم 394)

            จากท่านสอัตเล่าว่า ในเรื่องเกี่ยวกับท่านอุสมาน อิบนุ มัซอูน ที่ต้องการครองตัวเป็นโสด และปลีกตัวจากเหล่าผู้หญิง ท่านนนบีได้ไปหาอุสมานและกล่าวว่า “โอ้ท่านอุสมาน ฉันมิได้ถูกใช้ให้ครองตัวเป็นนักบวช ท่านรังเกียจแนวทาง (ซุนนะ) ของฉันกระนั้นหรือ ? อุสมานตอบว่า ไม่ครับ ท่านนบี  กล่าวต่อว่าซุนนะของฉันคือ ฉันละหมาด และฉันนอนพักผ่อน ฉันถือศีลอด และฉันก็รับประทานอาหาร (ละศีลอด) ฉันแต่งงาน และฉันก็หย่าร้าง ใครรังเกียจซุนนะฮ์ของฉันเขาก็ไม่ใช่เป็นพวกของฉัน โอ้ท่านอุสมาน แท้จริงครอบครัวของท่านมีสิทธิ์เหนือท่าน ที่ท่านต้องรับผิดชอบ และตัวของท่าน มีสิทธิ์เหนือท่านที่ท่านต้องรักษาดูแล” (อัดดาริมีย์ 2/133)

ฮะดีษที่ 3

عن سَهْلَ بْنَ أَبِي أُمَامَةَ بْنِ سَهْلِ بْنِ حُنَيْفٍ يُحَدِّثُ ، عَنْ أَبِيهِ ، عَنْ جَدِّهِ ، أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ، قَالَ : " لا تُشَدِّدُوا عَلَى أَنْفُسِكُمْ ، فَإِنَّمَا هَلَكَ مَنْ كَانَ قَبْلَكُمْ بِتَشْدِيدِهِمْ عَلَى أَنْفُسِهِمْ ، وَسَتَجِدُونَ بَقَايَاهُمْ فِي الصَّوَامِعِ وَالدِّيَارَاتِ " (أبوداود رقم 4904 والبيهقي في شعب الإيمان رقم 3884 وضعفه الألباني في المشكاة رقم 181).

            จากสะฮัล อิบนุ ฮุนัยฟฺ ท่านนบี  กล่าวว่า “ พวกท่านอย่าเข้มงวดต่อตัวของพวกท่าน (อย่าทำตัวองให้ลำบากในการปฏิบัติศาสนา) แท้จริงพวกที่อยู่ก่อนหน้าพวกท่าน ได้รับความวิบัติ เนื่องเพระความเข้มงวดดังกล่าว ร่องรอยของพวกเขายังคงมีให้เห็นอยู่ ในกุฏิ อาศรม และที่พักอาศัย ” (อบูดาวูด หมายเลข 4904)

ประเด็นที่สาม : ทางสายกลางในการประกอบกิจส่วนตัวและสังคม

            ท่านนบีมูฮัมมัด   เป็นมนุษย์ปุถุชนที่มีธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ทุกอย่างอยู่ในตัว  ท่านมีวิถีชีวิตที่ไม่แตกต่างจากมนุษย์สามัญชนโดยทั่วไป ท่านเคยเป็นเด็กรับจ้างเลี้ยงแกะ เป็นพ่อค้าก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นนบี  ท่านเป็นสามีของหญิงหม้าย  เป็นพ่อของลูกชายและลูกสาว เป็นพ่อเลี้ยงของบุตรบุญธรรม  เป็นสามีของสาวบริสุทธิ์ และเป็นสามีของหญิงหม้ายที่ขาดผู้อุปการะ  เป็นครู เป็นตุลาการ เป็นแม่ทัพ และเป็นผู้นำรัฐอิสลาม  ท่านใช้ชีวิตในรูปแบบทั้งหมดที่กล่าวมาโดยยึดหลักทางสายกลาง

            ในส่วนของการประกอบกิจส่วนตัวของท่านนบีนั้นพบว่าท่านเป็นต้นแบบของทางสายกลางของการอุปโภคและบริโภค ดังตัวอย่างจากสองรายงานต่อไปนี้ :

            1.ความพอเหมาะพอดีในการรับประทานอาหาร

            عن المقدام بن معدي كرب قال : سمعت رسول الله صلى الله عليه وسلم يقول" مَا مَلَأَ آدَمِيٌّ وِعَاءً شَرًّا مِنْ بَطْنٍ بِحَسْبِ ابْنِ آدَمَ أُكُلَاتٌ يُقِمْنَ صُلْبَهُ فَإِنْ كَانَ لَا مَحَالَةَ فَثُلُثٌ لِطَعَامِهِ وَثُلُثٌ لِشَرَابِهِ وَثُلُثٌ لِنَفَسِهِ . (رواه الترمذي رقم 2380وصححه الألباني)

            จากท่านอัล-มิกดาม บิน มะอฺดีย์ กะริบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ฉันได้ยินท่านเราะซูล  กล่าวว่า: "ไม่มีภาชนะใดที่มนุษย์พยายามเติมให้เต็มจะเลวร้ายมากไปกว่าท้องของเขา เป็นการเพียงพอสำหรับลูกหลานอาดัมแล้วที่เขาจะบริโภคอาหารแต่น้อยให้พอพยุงร่างกายได้ แต่ถ้าหากว่าจำเป็นต้องบริโภคมากกว่านั้นก็ให้ แบ่งหนึ่งส่วนสามสำหรับอาหาร หนึ่งส่วนสามสำหรับเครื่องดื่ม และอีกหนึ่งส่วนสาม สำหรับลมหายใจ"(อัตติรมิซีย์  หมายเลข 2380 )

 

            2.คำวิงวอน(ดุอา)ของท่านนบี  ให้ใช้จ่ายอย่างปานกลาง

روى عمار بن ياسر - رضي الله عنهما - دعاءً كان يدعو به (صلى الله عليه وسلم) وفيه: «اللهم أسألك خشيتك في الغيب والشهادة، وأسألك كلمة الحق في الرضا والغضب، وأسألك القصد في الفقر والغنى» أخرجه أحمد (17859)، والنسائي (1305) واللفظ له.

            อัมมารร์อิบน์ยาซิรได้รายงานว่า มีคำดุอา( คำวิงวอนต่ออัลลอฮ์  )ของท่านนบีบทหนึ่งมีข้อความว่า โอ้อัลลอฮ์  ฉันขอต่อพระองค์ให้ฉันมีความกลัวต่อพระองค์ทั้งในที่ลับและเปิดเผย  ฉันขอต่อพระองค์ให้ฉันมีคำพูดที่เป็นสัจธรรมทั้งในยามยินดีและยามโกรธ  และฉันขอต่อพระองค์ให้ฉันใช้จ่ายแต่ปานกลางทั้งในยามยากจนและร่ำรวย( อะฮ์มัด หมายเลข 17859)

            สำหรับกิจของท่านนบี  ในด้านสังคมก็เช่นเดียวกัน  ท่านนบี  เป็นต้นแบบของนักปฏิรูปสังคมที่นำหลักทางสายกลางมาใช้ เพื่อให้สังคมมีเสถียรภาพและเกิดความสันติสุข ดังตัวอย่างต่อไปนี้ :

            1.  การต่อต้านลัทธินิยม

            ท่านนบีมูฮัมมัด    ต่อต้านลัทธินิยม( อะเศาะบียะฮ์) ที่แพร่หลายอยู่ในหมู่ชาวอาหรับ  ท่านถือว่ามันเป็นความเลยเถิดและความสุดโต่งที่สร้างปัญหามากมายให้กับสังคม  ท่านนบี  กล่าวว่า:

" ليس منّا من دعا إلى عصبية ، وليس منا من قاتل على عصبية ، وليس منا من مات على عصبية " ( أبو داود رقم 5121)

            คนต่อไปนี้ไม่ใช่พวกของเรา คนที่เรียกร้องเชิญชวนไปสู่ลัทธินิยม  คนที่ทำสงครามต่อสู้เพื่อลัทธินิยม  และคนที่เสียชีวิตบนแนวทางของลัทธินิยม (อบูดาวูด หมายเลข 5121)

            ท่านนบี  ได้ประกาศให้ทุกคนสลายขั้วลัทธินิยมทางชาติตระกูลและเผ่าพันธุ์ โดยให้ทุกคนมีความเป็นพี่เป็นน้องกันด้วยอิสลาม  เกณฑ์ของความดีจึงไม่ได้อยู่ที่ชาติตระกูล  แต่อยู่ที่การมีอิสลาม ซึ่งหมายถึงการมีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ ดังที่ท่านนบีได้กล่าวในการเทศนาอำลาที่ทุ่งอาเราะฟะฮ์ปีที่10ของฮิจเราะฮ์ตอนหนึ่งว่า :

" أيها الناس، إن ربكم واحد، وإن أباكم واحد، كلكم لآدم، وآدم من تراب، أكرمكم عند الله أتقاكم، وليس لعربي على عجمي فضل إلا بالتقوى " (أحمد رقم 22977)

            มนุษย์ชาติทั้งหลาย แท้จริงพระผู้อภิบาลของพวกเจ้านั้นมีพระองค์เดียว  ต้นตระกูลของพวกท่านนั้นสืบมาจากบิดาคนเดียวกันคืออาดัม และอาดัมนั้นถูกสร้างมาจากดิน  ผู้ที่มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเจ้าคือผู้ที่มีความยำเกรงที่สุดต่ออัลลอฮ์  ชนอาหรับหาใช่จะประเสริฐเลอเลิศกว่าชนชาติอื่นนอกเสียจากด้วยการตักวาของพวกเขา(อะฮ์หมัด หมายเลข22977)

            2.  การให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย

            ท่านนบีมูฮัมมัด   เป็นต้นแบบของศาสนทูตผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ท่านมองว่าความยุติธรรมจำเป็นต้องเกิดขึ้นกับทุกส่วนของสังคม เริ่มตั้งแต่ตนเอง ครอบครัว และสังคมรอบข้าง ดังตัวอย่างของรายงานต่อไปนี้

            ก- ตัวอย่างความยุติธรรมต่อตนเอง

            วันหนึ่งมีผู้มาบอกท่านนบี  ว่าท่านอับดุลเลาะฮ์ อิบน์ อัมร์ถือศีลอดทั้งวันและทำอิบาดะฮ์ทั้งคืน ท่านนบี  เห็นว่าพฤติกรรมอย่างนี้เป็นพฤติกรรมที่ไม่ยุติธรรมต่อตนเอง เมื่อท่านนบีพบท่านอับดุลเลาะฮ์ท่านจึงกล่าวว่า โอ้ท่านอับดุลเลาะฮ์ ฉันทราบมาว่าท่านถือศีลอดทั้งวันและทำอิบาดะฮ์ทั้งคืนใช่ไหม  ท่านอย่าทำอย่างนั้น เพราะร่างกายของท่านมีส่วนเหนือท่าน(ที่ท่านจะต้องดูแลรักษา) ดวงตาทั้งสองของท่านก็มีส่วนเหนือท่าน (ที่ท่านจะต้องดูแลรักษา) และคู่ครอง (ภรรยา) ของท่านก็มีส่วนเหนือท่าน (ที่ท่านต้องดูแลรักษาเช่นเดียวกัน (ดูอัลบุคอรีย์หมายเลข1153)

            ข- ตัวอย่างความยุติธรรมต่อครอบครัว                                  

            1.ท่านนบีมูฮัมมัด   ให้ความยุติธรรมต่อภรรยาของท่านทุกคนในการแบ่งเวร  ท่านจะกล่าวทุกครั้งหลังแบ่งเวรว่า :

" اللهم هذه قسمتي فيما أملك فلا تلمني فيما تملك ولا أملك " (الترمذي رقم 1055)

            โอ้อัลลอฮฺนี่เป็นการแบ่งเวรของฉันในส่วนที่ฉันครอบครอง(ทำได้) ดังนั้นพระองค์อย่าได้ตำหนิฉันในสิ่งที่พระองค์ครอบครองและฉันไม่ได้ครอบครอง(ทำไม่ได้)    ท่านนบีหมายถึงความรักที่ท่านอาจจะมีให้คนหนึ่งมากกว่าอิกคนหนึ่ง (ดูอัตติรมีซีย์ หมายเลข1055)

            2.ท่านนบีมูฮัมมัด   ได้กำชับในเรื่องการให้ความยุติธรรมระหว่างลูกๆ ดังปรากฎในรายงานของท่านอันนุอ์มานอิบนุบาชีรเล่าว่า  คุณพ่อของฉัน(บะชีร) ได้อุ้มฉันไปหาท่านนบีและกล่าวกับท่านนบีว่า :

            บะชีร  : โอ้เราะซูลุลลอฮ์จงเป็นพยานให้ฉันด้วย ว่าฉันได้มอบทรัพย์สมบัติของฉันให้กับลูก(นุอ์มาน)

ท่านนบี :  ท่านมอบทรัพย์สมบัติอย่างนี้ให้ลูกทุกคนเหมือนกันใช่ไหม

บะชีร : ไม่

ท่านนบี : ถ้าอย่างนั้นท่านจงไปให้คนอื่นเป็นพยาน เพราะฉันจะไม่เป็นพยานให้กับความอธรรม 

 ในอีกรายงานหนึ่งท่านนบีกล่าวถึงสามครั้งว่า : " اعدلوا بين أولادكم "           

            พวกท่านจงให้ความยุติธรรมต่อลูกๆของพวกท่าน (ดูฮะดีษในอัลบุคอรีย์ หมายเลข2446และมุสลิมหมายเลย 1623)

            3. ท่านนบีมูฮัมมัด   ยึดมั่นในบทบัญญัติและมีความยุติธรรมในการปฏิบัติตามบทบัญญัติ ดังมีรายงานว่าครั้งหนึ่งท่านโกรธมากที่ท่านอุซามะฮ์อิบนุซัยด์ มาพูดจากับท่านเรื่องการลงโทษหญิงขโมยจากเผ่าอัลมัคซูมียะฮ์ ท่านนบีได้คุตบะฮ์และกล่าวว่า :

" إنما هلك الذين من قبلكم أنهم كانوا إذا سرق فيهم الشريف تركوه ، وإذا سرق فيهم الضعيف أقاموا عليه الحد، وايم الله ! لوأن فاطمة بنت محمد سرقت لقطعت يدها " ( مسلم رقم 1688 )

            อันที่จริงมีผู้ก่อนหน้าเจ้าได้รับความวิบัติ (อันเนื่องจาก) พวกเขาปล่อยประละเลยไม่ลงโทษขโมยเมื่อพบว่าขโมยเป็นคนมีเกียรติ และลงโทษขโมยเมื่อพบว่าขโมยเป็นผู้อ่อนแอ  ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ถ้าแม้นว่าฟาฎิมะฮ์บุตรสาวของมูฮัมมัดขโมยฉันก็จะตัดมือเธออย่างแน่นอน(มุสลิม หมายเลย1688)

            3.การให้เกียรติผู้อื่น

            ท่านนบีมูฮัมมัด     เป็นต้นแบบของศาสนทูตที่ให้เกียรติผู้อื่น ไม่ว่าผู้อื่นนั้นจะเป็นมิตรหรือศัตรู เป็นผู้ศรัทธาหรือผู้ไม่ศรัทรัทธาก็ตาม   ต่อไปนี้คือตัวอย่างที่สามารถชี้ชัดต่อเรื่องดังกล่าว

ก.      ท่านนบีมูฮัมมัด   ให้เกียรติกษัตริย์และผู้นำแคว้นต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน  ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นคริสเตียน เป็นมะยูซีย์(บูชาไฟ) หรือเป็นพวกบูชาเทวรูป ท่านได้ส่งสาส์นเชิญชวนสู่อิสลามไปยังคนเหล่านั้นโดยเรียกชื่อคนเหล่านั้นอย่างให้เกียรติ เช่น :

            สาสน์ถึงจักรพรรดิโรมันมีข้อความว่า :

" من محمد رسول الله إلى هرقل عظيم الروم ..."

            จากมูฮัมมัดเราะซูลุลลฮ์ถึงฮิร๊อกล์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งโรมัน (มุสลิม หมายเลข1773)

            สาสน์ถึงกิสรอแห่งเปอร์เชียร์มีข้อความว่า:

" من محمد رسول الله إلى كسرى عظيم فارس ..."

 

            จากมูฮัมมัดเราะซูลุลลอฮ์ถึงกิสรอผู้ยิ่งใหญ่แห่งเปอร์เซีย (ตารีคอัฎฎอบรีย์ 3/90-91)

            สาสน์ถึงอัลมุเกากิสแห่งอิยิปต์มีข้อความว่า :

" من محمد بن عبد الله إلى المقوقس  عظيم القبط ..."


            จากมูฮัมมัดบุตรอับดุลลอฮ์ถึงอัลมุเกากิสผู้ยิ่งใหญ่แห่งอิยิปต์ (อัลมุสนัดอัลบัซซาร หมายเลข 1945 )

            นอกจากนั้นท่านยังให้การต้อนรับคณะต่างๆที่เข้ามายังนครมะดีนะฮ์อย่างสมเกียรติ ( ดูเฎาะบะกอต อิบน์ซะอด์ 1/332 ) ถึงขั้นสั่งกำชับเศาะฮาบะฮ์ในช่วงท้ายชีวิตของท่านว่า:

" أجيزوا الوفد بنحو ما كنت أجيزهم "

            พวกท่านจงมอบของกำนัลให้กับคณะที่เข้ามาเหมือนกับที่ฉันเคยมอบให้ ( อัลบุคอรีย์ หมายเลข 2888)

ข.     ท่านนบีมุฮัมมัด   ให้เกียรติเศาะฮาบะฮ์ของท่านด้วยการปรึกษาหารือและขอคำแนะนำในหลายเรื่องและหลายเหตุการณ์ จนกระทั่งท่านอะบูฮุรอยเราะฮ์กล่าวว่า :

ฉันไม่เคยเห็นใครปรึกษาหารือเศาะฮาบะฮ์ของเขามากยิ่งกว่าท่านเราะซูลลุลลอฮ์ (อิบนุฮิบบาน 11/217 )

การปรึกษาหารือของท่านเราะซูลนั้นมีเหตุผลหลายประการ และหนึ่งในนั้นคือการให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพราะโดยความเป็นจริงแล้วท่านนบีไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องขอคำปรึกษาจากเศาะฮาบะฮ์ เนื่องจากท่านได้รับวะฮ์ยูโดยตรงจากพระผู้เป็นเจ้าเบื้องบนอยู่ตลอดเวลา        

ตัวอย่างของการปรึกษาหารือของท่านนบี

1.ท่านนบีปรึกษาหาหรือเหล่าเศาะฮาบะฮ์ในเหตุการณ์สงครามบัดร์(ดูซีเราะฮ์อิบนุฮิชาม1/615)  สงครามอุฮุด (ดูอ้างแล้ว 2/63)  สงครามอะฮ์ซาบ (ดูอ้างแล้ว 2/224) และสงครามตะบู๊ก (ดูมะฆอซีอัลวากีดีย์ 3/1019)

2. ท่านนบีปรึกษาหารืออบูบักร์และอุมัรในเรื่องเชลยศึกสงครามบัดร์ (ดูมุสลิมหมายเลข1763)

3. ท่านอัลฮับบ๊าบอิบนุอัลมุนซิรให้คำปรึกษาแก่ท่านนบีในการตัดต้นอินทผลัมในสงครามคอยบัร (ดูมะฆอซีอัลวากิตีย์ 2/64)

ค.  ท่านนบีไม่เจาะจงพาดพิงผู้อื่นในทางที่เสียหาย ท่านมักจะพูดโดยใช้สรรพนามรวมๆ ไม่พาดพิงใครเป็นการเฉพาะ ดังตัวอย่างในกรณีของเศาะฮาบะฮ์กลุ่มหนึ่งที่มีความประสงค์ในการใช้ชีวิตแบบสุดโต่งในการทำอิบาดะฮ์  หลังจากได้ทราบการทำอิบาดะฮ์ของท่านนบีจากครอบครัวของท่าน  ท่านนบีได้กล่าวถึงคนเหล่านั้นบนมิมบัร โดยใช้สำนวนว่า :

" ما بال أقوام يفعلون كذا كذا ... "

มีคนหลายคนที่ทำอย่างนั้นอย่างนี้.....(พวกเขาทำได้อย่างไร?)  (มุสลิม หมายเลข148) และตัวอย่างกรณีของเศาะฮาบะฮ์บางคนที่ชอบแหงนมองฟ้าขณะละหมาด ท่านนบีได้ตำหนิคนเหล่านั้น และพูดถึงคนเหล่านั้นด้วยสำนวนคล้ายกันว่า :

" ما بال أقوام يرفعون أبصارهم إلى السماء في الصلاة. (البخاري رقم 750)

มีคนหลายคนที่ชอบแหงนมองฟ้าขณะละหมาด....(พวกเขาทำได้อย่างไร?)(อัลบุคอรีย์ หมายเลข 750)

ท่านนบีไม่ระบุชื่อบุคคลในสองตัวอย่างข้างต้นในทีสาธารณะเพราะท่านให้เกียรติบุคคลเหล่านั้น

ง. ท่านนบียืนให้เกียรติศพแม้ว่าศพจะไม่ใช่มุสลิม (ดูอัลบุคอรีย์ หมายเลข1311และมุสลิมหมายเลข 2181)  และท่านจะชอบเยี่ยมคนป่วยแม้จะอยู่ไกลสักเพียงใด (ดูอัลบุคอรีย์หมายเลข 4577)  และแม้คนป่วยบางคนมิได้เป็นมุสลิมก็ตาม  ดังมีรายงานว่าครั้งหนึ่งท่านได้ไปเยี่ยมเด็กหนุ่มชาวยิวคนหนึ่งที่เคยรับใช้ท่าน และเมื่อท่านเชิญชวนให้เขาเข้ารับอิสลามเขาก็รับอิสลาม(ดูอัลบุคอรีย์ หมายเลข1356 และอบูดาวูด หมายเลข3095)

 

ประเด็นที่สี่: ทางสายกลางในการวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิผู้อื่น

ท่านนบีมูฮำมัด   เป็นต้นแบบของผู้วิจารณ์ที่ดีและผู้ตำหนิที่ดี แนวทางของท่านนบีเป็นแนวทางสายกลางที่ยึดหลักความจริงที่ท่านได้พูดไว้ว่า :

" كل بني آدم خطاء وخير الخطائين التوابون " (الترمذي رقم 2499)

มนุษย์ทุกคนย่อมมีความผิดพลาด และคนผิดพลาดทีดีคือคนที่กลับตัว (เตาบะฮ์)(อัตติรมีซีย์ หมายเลย 2499)

จากการสำรวจซุนนะฮ์ของท่านนบีพบว่าท่านนบีใช้หลักและวิธีการต่อไปนี้ในการวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิผู้อื่น

1. ความใจเย็นไม่รีบร้อน  ดังตัวอย่างกรณีของฮาฏิบอิบนุอบีบัลตะอะฮ์ที่ได้กระทำความผิดอย่างมหันต์  โดยได้แอบส่งสาสน์ถึงพวกกุเรชมักกะฮ์ว่า ท่านนบีมีความประสงค์จะทำสงคราม  ท่านนบีไม่ได้แสดงความรีบร้อนที่จะตำหนิและลงโทษ  แต่ท่านกลับเรียกฮาฎิบมาถามถึงสาเหตุและแรงจูงใจในการกระทำเพื่อทราบถึงเหตุผล(ดูอัลบุคอรีย์ หมายเลข 3007 และ 6259)

2. ความสุภาพอ่อนโยน  ดังตัวอย่างจากรายงานของท่านหญิงอาอิชะฮ์ว่า มียิวกลุ่มหนึ่งมาหาท่านนบีและทักทายท่านนบีดังนี้ : 

      ยิว   :    “อัสซามุอะลัยกุม”  ) السام عليكمแปลว่าความตายจงประสบกับพวกท่าน)

      อาอิชะฮ์ (ตอบด้วยความโกรธ) ว่า : “วะอะลัยกุมุสซามวั้ลละนะฮ์” وعليكم السام  واللعنة( แปลว่าความตายและการสาปแช่งจงประสบแก่ท่านเช่นกัน)

ท่านนบี  : “ช้าก่อนอาอิชะฮ์ ! แท้จริงอัลลฮ์ทรงโปรดความสุภาพอ่อนโยนในทุกกิจการ

อาอิชะฮ์ :  “ท่านไม่ได้ยินสิ่งที่พวกเขากล่าวหรือ ” ?

ท่านนบี :  “ ได้ยิน  ฉันได้พูดตอบแล้วว่า ว่าอะลัยกุ้ม”  وعليكم   (ดูอัลบุคอรีย์   หมายเลย 6264)

3. ความเมตตาสงสาร  ดังตัวอย่างของท่านหญิงซัยหนับที่ขึงเชือกระหว่างสองเสาเพื่อใช้เกาะเมื่อรู้สึกล้าขณะละหมาด  ท่านนบีได้ห้าม และสั่งให้แก้เชือกออก  ท่านนล่าวว่า :

" ليصلِّ أحدكم نشاطه، فإذا فتر فليقعد " (البخاري رقم 1150)

“พวกท่านจะต้องละหมาดด้วยความกระปี้กระเป่า เมื่อใดเกิดความเมื่อยล้าก็ให้นั่งละหมาด (ดูอัลบุคอรีย์ หมายเลข1150)

4. ความฉลาดและมีวิทยปัญญา  ดังตัวอย่างของชาวอาหรับชนบทที่เข้ามาปัสสาวะในมัสยิด ท่านนบีได้ห้ามมิให้ไล่ตะเพิดเขา  โดยปล่อยให้เขาปัสสาวะจนเสร็จ แล้วจึงเรียกมาเตือนว่า :

" إن هذه المساجد لا تصلح لشيئ من هذا البول ولا القذر، إنما هي لذكر الله عز وجل والصلاة وقراءة القرآن ."(مسلم رقم 100)

“สถานที่นี้เป็นมัสยิด ไม่บังควรที่จะมาปัสสาวะ และทำสิ่งสกปรกอย่างนี้ มัสยิดเป็นสถานที่สำหรับซิกรุ้ลลอฮ์  ละหมาด และอ่านอัลกุรอาน”  หลังจากนั้นท่านนบีได้ใช้ให้ทำความสะอาดโดยให้นำน้ำไปเทบริเวณนั้น  (ดูมุสลิม หมายเลข100)

5. คำแนะนำที่ดี  ดังกรณีของท่านอุซามะฮ์อิบนุซัยด์ที่ได้สังหารผู้ที่กล่าวลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์ในการต่อสู้ที่เผ่าอัลฮุเราะเกาะฮ์  เมื่อท่านนบีทราบเรื่องจึงเรียกอุซามะฮ์มาถามว่า :

ท่านนบี  :   “ ท่านฆ่าเขาหรือท่านอุซามะฮ์  ” ?

อุซามะฮ์   :   “ครับ”

ท่านนบี  :    “ท่านจะทำอย่างไรกับลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์ในวันกิยามะฮ์   ” ?

อุซามะฮ์ :  “เขากล่าวลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์เพราะกลัวตาย”   “จงขออภัยโทษให้ฉันด้วยโอ้ท่านเราะซู้ล”

ท่านนบีได้กล่าวซ้ำคำว่า :  “ท่านจะทำอย่างไรกับลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์ในวันกิยามะฮ์”   (ดูมุสลิม  หมายเลข97)  นักอธิบายฮะดีษกล่าวว่า การตำหนิของท่านนบีในลักษณะดังกล่าวเป็นการตอกย้ำคำสอนเพื่อมิให้มีผู้ใดก้าวล่วงฆ่าชีวิตของผู้ที่กล่าวกะลีมะฮ์เตาฮีด ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์   (ดูฟัตฮุ้ลบารี 12/195)

6. การพูดคุยสนทนา  ดังตัวอย่างของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มาหาท่านนบีเพื่อขออนุญาตทำซินา(ผิดประเวณี)  ท่านนบีได้เรียกเด็กหนุ่มเข้าไปใกล้เพื่อพูดคุยดังนี้

ท่านนบี :  “เจ้าชอบให้แม่เจ้าทำซินาไหม”?

เด็กหนุ่ม : “ไม่ครับ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ และคงไม่มีมนุษย์คนใดชอบอย่างนั้น”

ท่านนบี :  “เจ้าชอบให้ลูกสาวของเจ้าทำซินาไหม” ?

เด็กหนุ่ม : “ไม่ครับ ขอสาบานต่ออัลลอ และคงไม่มีมนุษย์คนใดชอบอย่างนั้น”

ท่านนบี : “เจ้าชอบให้พี่สาวน้องสาวเจ้าทำซินาไหม” ?

เด็กหนุ่ม:  “ไม่ครับ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ และคงไม่มีมนุษย์คนใดชอบอย่างนั้น”

ท่านนบี :  “เจ้าชอบให้อาหญิงของเจ้าทำซินาไหม” ?

เด็กหนุ่ม:  “ไม่ครับ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ และคงไม่มีมนุษย์คนใดชอบอย่างนั้น”

ท่านนบี : “เจ้าชอบที่จะให้น้าหญิงของเจ้าทำซินาไหม” ?

เด็กหนุ่ม : “ไม่ครับ ขอสายบนต่ออัลลอฮ์ และคงไม่มีมนุษย์คนใดชอบอย่างนั้น”

ท่านนบีได้เอามือวางบนเด็กหนุ่มแล้วกล่าวว่า :

" أللهم اغفر ذنبه، وطهّر قلبه، وحصّن فرجه "(أحمد رقم 21628)

“โอ้อัลลอฮ์ได้โปรดยกโทษให้เขา ให้เขามีจิตใจสะอาด และรักษาอวัยวะเพศของเขาจากความชั่ว”  ปรากฏว่าหลังจากนั้นเด็กหนุ่มคนนี้ก็ไม่ได้ข้องแวะและให้ความสนใจกับความชั่วร้ายอีกเลย (ดูมุสนัตอะห์มัด หมายเลข 21628)

บทส่งท้าย

ท่านนบีมูฮัมมัด   คือต้นแบบของผู้ดำเนินชีวิตสายกลาง ไม่มีส่วนใดในวิถีชีวิตของท่านบ่งชี้ว่าท่านเป็นคนสุดโต่งหรือเป็นคนหย่อนยาน ไม่ว่าจะเป็นด้านความเชื่อและความศรัทธา  ด้านการประกอบกิจอิบาดะฮ์ต่อพระผู้เป็นเจ้า และด้านการประกอบกิจส่วนตัวและสังคม  หากเราใส่ใจที่จะเรียนรู้และปฏิบัติตามซุนนะฮ์ของท่านในด้านต่างๆเราก็จะพบความเป็นทางสายกลางที่แฝงอยู่ในซุนนะฮ์เหล่านั้นอย่างไม่ยาก  ทางสายกลางนี้คือทางที่จะนำบุคคลและสังคมไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า  ขอดุอาจากอัลลอฮ์ให้ผู้อ่านทุกท่านได้อยู่ในแนวทางสายกลางของท่านนบีมูฮัมมัด  ตลอดไป อามีน

 

บรรณานุกรม

1- القرآن الكريم

2- أحمد بن حنبل (ت 240هـ)، المسند. المكتب الإسلامي، دار صادر بيروت ، بدون تاريخ.

3-  البخاري : أبوعبدالله محمد بن اسماعيل(256ه) صحيح البخاري، دارالسلام للنشر والتوزيع، الرياض،ط1/1417ه/1997م.

4- الترمذي : أبو عيسى محمد بن عيسى ( ت 279هـ) سنن الترمذي تحقيق أحمد محمد شاكر ط 2/ 1398هـ مطبعة مصطفى البابي الحلبي وأولاده بمصر .

5- ابن حبان : محمد بن حبان بن أحمد التميمي البستي (ت 354 هـ)صحيح ابن حبان، تحقيق أحمد شاكر القاهرة 1952م

6- ابن حجر العسقلاني : شهاب الدين أبو الفضل أحمد بن علي ( ت 852هـ ) فتح الباري شرح صحيح البخاري تحقيق محب الدين الخطيب وترقيم محمد فؤاد عبد الباقي ط 4/ 1408ه المكتبة السلفية القاهرة .

7-  أبوداود : سليمان بن الأشعث السجستاني ( ت 275ه ) سنن أبي داود بتحقيق محمد محي الدين عبد الحميد

8-  ابن سعد : محمد بن سعد ( ت 230 ه ) الطبقات الكبرى ، دار صادر بيروت .

9-  الطبري : ابن جرير الطبري (310هـ)تاريخ الأمم والملوك.تحقيق محمد أبي الفضل ابراهيم / دارسويدان ط 2/1387هـ

10- مسلم بن الحجاج النيسابري (261ه) صحيح مسلم، تحقيق محمد فؤاد عبدالباقي، ط/1403ه دار الفكر .

11- الواقدي : محمد بن عمر بن واقد ( ت 207 ) كتاب المغازي ، تحقيق الدكتور مارسدن جونس ، مءسسة الأعلمي للمطبوعات بيروت 1964م

12- ابن هشام : السيرة النبوية بتحقيق مصطفى السقان مؤسسة علوم القرآن ط 1404ه 

 

ผศ.ดร.อับดุลเลาะ   หนุ่มสุข

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้